โดย : admin | เมื่อ : 2017-04-18 15:04 | เข้าชม : 1834
คำนำ สำนักพิมพ์
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๙ จะครบรอง ๑๐๐ ปีชาติกาล ของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำโครงการที่เป็นประโยชน์ ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ตามปณิธานของท่านอาจารย์พุทธทาส
สำนักพิมพ์สุขภาพใจก็ได้จัดทำโครงการ “๑๐๐ ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส” มีวัตถุประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือของท่านอาจารย์ภายใต้กรอบแนวคิด “พุทธทาส ๑๐๐ ปี หนังสือดี ๑๐๐ เล่ม” โดยคัดเลือกหนังสือที่เป็นความรู้ทั่วไป เกี่ยวกับศาสนา ชีวิต และสังคม เพื่อสร้างองค์ความรู้พื้นฐานแก่ผู้อ่านเป็นหลัก แต่ก็จะมีหนังสือที่มีเนื้อหาลึกซึ้ง รวมทั้งประวัติชีวิตและงาน ของท่านอาจารย์รวมอยู่ด้วย
“ทาน” ทำอย่างไรจึงได้ได้บุญมาก เล่มนี้ อยู่ในชุด “ธรรมะสบายใจ” ก็เป็นหนังสือดี ๑ ใน ๑๐๐ เล่ม ที่สำนักพิมพ์ฯ ตั้งใจพิมพ์เพื่อถวายเป็นอาจริยบูชา แด่ท่านอาจารย์พุทธทาสในวาระ ๑๐๐ ปี ชาตกาล
เนื้อหาในเล่ม กล่าวถึงความหมายของการให้ทุกระดับ ตั้งแต่ทาน จาคะ และบริจาค ประเภทของการให้ จุดมุ่งหมายของการให้และวิธีให้ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ให้ ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์ของทานทุกระดับ ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้อย่างแจ่มชัด
สำนักพิมพ์สุขภาพใจ
สารบัญ
ความหมายของทาน จาคะ และบริจาค ๒
ประเภทของทาน ๓
การให้ตัวเอง ๒ อย่าง ๓
ให้แบบค้ากำไร ๔
ให้โดยสัญชาตญาณ ๔
ให้อย่างแลกเปลี่ยน ๔
ให้ตามธรรมเนียม ๕
ให้ตามหน้าที่ ๕
ให้อย่างลงทุน ๖
ให้อย่างสหกรณ์ ๖
ให้เพื่อสร้างบารมี ๘
ให้เพราะจำเป็นต้องให้ ๙
ให้เพราะกิเลสต้องการ ๑๐
ให้เพื่ออวด ๑๐
ให้อย่างตกเบ็ด ๑๑
ให้เพราะถูกหลอก ๑๒
ให้เพราะบ้าดี เมาดี หลงดี ๑๒
ให้เพราะกลับตัว กลับใจ ๑๓
การให้สูงสุดคือการสละตัวตน ๑๔
ทศพิธราชธรรมข้อที่ ๓ “บริจาค” ๑๖
ท่านสาธุชน ผู้มีความสนใจ ในธรรมทั้งหลาย
การบรรยายประจำวันเสาร์ในวันนี้ อาตมาก็ยังคงบรรยายในชุดที่เรียกว่า “สิ่งที่ท่านยังไม่รู้จัก”
ต่อไปอีก บางคนอาจจะรำคาญหรือเบื่อแล้วก็ได้ว่า ยังมีสิ่งที่ยังไม่รู้จักมากมายนัก ถ้ามันยังมีอยู่ ก็ควรจะเอามาทำให้รู้จักกันเสีย จะได้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเสียที ขอให้สนใจฟัง ถ้ารู้จักละเอียดลออมากขึ้น ก็มีความรู้ธรรมะมากขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น แล้วก็จะพลอยรู้จักทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่าง หรือธรรมะทุก ๆ อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ฉะนั้นให้สนใจให้ดี ๆ สังเกตให้ดี ๆ ในสิ่งที่เรียกว่าท่านยังไม่รู้จัก
ในวันนี้ก็จะได้กล่าวด้วยหัวข้อที่ตั้งต้นที่สุดเลย คือ สิ่งที่เรียกว่า “การให้ทานที่ท่านยังไม่รู้จัก” ฟังดูก็เหมือนจะดูหมิ่น สบประมาทกันเต็มที่ ว่าท่านยังไม่รู้จักการให้ทาน ซึ่งมันเป็น ก. ข. ก.กา เป็นตัว ก. และการพูดจาในทางธรรมะก็ว่าทาน แล้วก็ศีล แล้วก็สมาธิ หรือทาน ศีล แล้วก็ภาวนาอย่างนี้เป็นต้น มันเป็นสิ่งแรกที่สุด แต่ก็ยังมีแง่มุมปลีกย่อยต่าง ๆ นานาสารพัดอย่าง ซึ่งไม่ได้รู้จักกันถึงที่สุด มันก็เลยไม่ถูกต้อง การบำเพ็ญทานหรือการให้ทานมันก็เลยไม่ถูกต้อง ยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่ถึงที่สุด คือเบื้องปลายยังไม่ถึง นี่ขอให้พยายามอดทนทำความเข้าใจต่อไป เพื่อให้รู้จักเพิ่มขึ้นอีกสิ่งหนึ่งในนามที่เรียกว่า การให้ทาน หรือการบริจาค เป็นคำพูดตามธรรมดา ๆ
ความหมายของคำว่า ทาน จาคะ และบริจาค
ในชั้นแรกที่สุดนี้เราจะเอาตัวหนังสือหรือคำพูดนี้เป็นหลัก มันก็จะได้กัน ๓ ชั้น หรือ ๓ ความหมาย คือคำว่า ทาน มีคำหนึ่ง แล้วก็จาคะ คำที่ ๒ แล้วก็บริจาค บริจาคนี่คำที่ ๓ สังเกตดูให้ดีว่า มันต่างกันอย่างไร ถ้าไม่เคยเรียนบาลี อาจจะไม่สนใจเห็นเหมือน ๆ กัน หรือเป็นสิ่งเดียวกันไปเสียก็ได้ ถ้าเคยเรียนบาลีหรือว่าสังเกตมาก ๆ แม้ไม่เคยเรียนบาลีก็รู้ได้ เหมือนกับว่ามันไม่ใช่อย่างเดียวกันเลยล่ะ ๓ คำนี้ สังเกตความหมายกันไว้ให้ดี ๆ
คำว่า “ทาน” แปลว่า ให้ แล้วคำว่า “จาคะ” นี้แปลว่า สละ คำว่า “บริจาค” นี่มันให้ออกไปเสียให้หมด ให้ไปเสียให้หมด มันก็ไม่เหมือนกัน ทานแปลว่า ให้ จาคะแปลว่าสละ บริจาคะแปลว่าสละสลัดออกไปเสียให้หมด นี่มันต่างกันอย่างไร ดูกันทีละอย่างอีกที
ทานหรือทานะในภาษาบาลีนี้ก็แปลก ใช้เป็นชื่อของการให้ก็ได้ ใช้เป็นชื่อของสื่อของที่ให้ ให้ทานอย่างนี้ก็ได้ ใช้เป็นชื่อสถานที่ก็ได้ คำว่าทานหมายถึงโรงทานก็ยังได้ ภาษาบาลีมันเป็นอย่างนั้น แต่คงเอาไว้เพียงคำว่าทานคำเดียว ทานคำเดียว แปลว่าให้
คำว่าให้ในที่นี้ให้อย่างมีผูกพัน ให้อย่างมีผูกพัน ที่จะได้รับผลอะไรคืนมา มันให้อย่างเอากำไร ให้อย่างมีการผูกพัน ว่าจะต้องได้รับการตอบแทน
คำว่าจาคะมันไม่ใช่อย่างนั้น มันให้ มันสละไปเลย มันไม่มีการผูกพัน ถ้าทานะมันมีผูกพันว่าจะต้องได้อะไรกลับมาให้แก่กู ส่วนจาคะนั้นสละ ๆ ออกไป ไม่มีการผูกพัน
ทีนี้บริจาค บริจาค คือให้ให้หมดเลิกกันเลย ให้กันหมดจนไม่มีอะไรจะให้ ให้ว่างไปเลย ยิ่งไม่มีความผูกพัน เพราะมันให้เพื่อจะเอาความว่างเป็นผลสุดท้าย
เห็นไหมว่า ๓ คำนี้มันยังเดินอยู่คนละทิศละทางไปกันไกลคนละทิศคนละทาง ทานะให้อย่างมีอะไรผูกพันแล้วก็มีผู้รับด้วย มีผู้ให้ด้วย มีการผูกพันกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับ หรือการกระทำนั่น จาคะนี้ไม่เอาอย่างนั้น ฉันให้สละออกไป ๆ สละออกไป ไม่ให้มันเกิดการผูกพัน บริจาคมันเติม “บริ” เข้ามา แปลว่า มันสิ้นเชิงหมด เลิกกันสิ้นเชิงจนไม่มีอะไรจะต้องให้อีกต่อไป ๓ คำจำไว้ให้ดี ทานะแปลว่าให้ จาคะแปลว่าสละ บริจาคะแปลว่าสละหมด
ประเภทของทาน
ทีนี้มันยังมีแง่มุมต่าง ๆ นานา ที่เราจะเอามาเป็นเครื่องบัญญัติพูดจากันให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ก็จะพูดในส่วนนี้โดยแบ่งเป็นประเภท
ประเภทแรก คือมีผู้รับ การให้ต้องมีผู้รับนี่มันการผูกพัน อย่างที่กล่าวมาแล้ว ประเภทที่สอง ไม่ต้องมีผู้รับ ให้ชนิดที่ไม่มีผู้รับ ให้สิ่งที่ไม่ควรจะมีอยู่ในตัวกู ตัวตนออกไปเสีย ใครมันจะรับใครมันจะเอา ไม่ต้องมีผู้รับ อย่างที่สามให้อย่างเลิกกัน อย่างให้บริจาคหมด ให้ตัวกู เช่นให้ตัวกูให้หมดไปเสีย ไม่มีปัญหาอะไร นี่ยิ่งไม่เป็นการผูกพันให้เป็นการทำลายการผูกพันไปเสียให้หมด ไม่มีการผูกพันโดยแง่ใด
นี่ก็พอจัดได้เป็น ๓ พวก ให้อย่างมีผู้รับแล้วก็ผูกพันกันว่าจะได้รับผลจากการให้ ให้โดยไม่ต้องมีตัวผู้รับและไม่ผูกพันว่าจะได้ ถ้ามันจะได้ผลมาก็ได้มาโดยฐานะเป็นปฏิกิริยา มันก็ได้เอง ไม่ต้องมีการผูกพันว่าจะต้องได้และไม่ต้องมีคนเป็นผู้รับ แล้วทีนี้ก็ให้ชนิดที่เลิกกัน ให้ใช้อย่างที่เลิกกัน ให้ใช้ต้นตอ ให้ต้นเหตุ ให้ต้นตอแห่งปัญหาออกไปเสีย คือ ให้ตัวกูออกไปเสีย ละตัวกู สลัดตัวกู เลิกตัวกู นี่มันสูงสุด มันกลับได้นิพพาน กลับมีนิพพาน โดยไม่มีข้อผูกพัน คือมันให้แล้วมันเกิดความว่าง ว่างจากตัวตน ว่างจากกิเลสไม่มีความทุกข์
ท่านทั้งหลายรู้จักแล้วหรือยัง ที่พูดว่าที่ท่านยังไม่รู้จักมันมีความจริงอย่างไร มีความจริงเท่าไร นี่เรียกว่าชั้น ก. ข. ก.กา กันแล้วก็ยังไม่รู้จัก แล้วมันก็ยังไม่รู้จักอีกมากมายแหละ
ทีนี้ก็จะพูดกันให้ละเอียดออกไป ในบรรดาที่เรียกว่าให้ การให้หรือการให้ออกไปมีหลายแง่ หลายเหลี่ยมหลายมุมที่มันเข้าใจยาก ที่มันรู้จักยาก ที่มันเข้าใจยาก
การให้ตัวเอง ๒ อย่าง
ทาน..ทำอย่างไรจึงจะได้บุญมาก : ๓ แล้วทีนี้มันมีให้ตัวเองอีกชนิดหนึ่ง ให้ตัวกูออกไปเสีย ไม่ต้องมีตัวกูเหลือ บริจาคตัวกูให้หมด ไป ๆ ไม่มีตัวกูเหลือ นี่กลับได้นิพพาน ให้ตัวกูอย่างนี้กลับได้นิพพาน ไม่มีตัวตนอะไรเหลือ นี่กลับได้นิพพาน แต่ให้ตัวกู ให้ตัวตนตามธรรมดาสามัญนี้คือ แพ้ ขี้แพ้ ยอมแพ้ ยอมให้มันเอาไป ให้มันครอง
คู่แรกที่สุด เข้าใจยาก คือคำว่า ให้ตัวเอง “ให้ตัวเอง” ฟังให้ดีนะ คำนี้คำเดียว มีความหมายตรงกันข้ามทั้ง ๒ ฝ่ายเลย ให้ตัวเอง หมายความว่ายอมแพ้ ยอมแพ้ให้ตัวเองแก่ข้าศึก แล้วแต่ข้าศึกจะเอาไปทำอะไร นี่ให้ตัวเองอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เสียหาย เสียหายหมดเลย ให้ตัวเอง มีคำกล่าว ธรรมะกล่าวว่า “เป็นคนทั้งทีอย่าให้ตัวเอง” คือให้ตัวเองไปเสียแก่กิเลสง่าย ๆ ชุ่ย ๆ ให้ตัวเอง ตัวกูให้กิเลสไปเสีย แล้วแต่กิเลสมันจะบังคับให้ทำอะไร ให้ตัวเองอย่างนี้ผิด ใช้ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ ให้โทษ
บ้านครองเมือง ให้มันยึดเอาไปเป็นขี้ข้าให้มันทำแล้วแต่มันจะทำ นี่คำพูดคำเดียวกัน ให้ตัวตน ให้ตัวตน ให้ตัวตน นี่อันหนึ่งไม่ควรให้ อันหนึ่งให้แต่ดี รู้จักหรือไม่รู้จัก อาตมาว่าท่านยังไม่รู้จัก ท่านยังไม่รู้จัก ต้องดูให้ดี ให้ตัวตน ให้ตัวตน อย่างหนึ่งไม่ควรให้ คือมันยอมแพ้ง่าย ๆ แต่อย่างหนึ่งควรให้เลิกตัวตน หมดตัวกู หมดตัวตน ก็เป็นหลุดพ้น เป็นนิพพาน ความหมาย ๒ อย่าง ในคำพูดคำเดียวกันว่า ให้ตัวตน รู้จักหรือไม่รู้จัก เคยรู้จักหรือไม่เคยรู้จัก
ให้แบบค้ากำไร
เอ้า ทีนี้ มาดูกันให้ละเอียดที่ถี่ยิบ ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย แง่ได้แง่เสีย แง่ดีแง่ร้ายให้อย่างเอากำไรมหาศาล ตักบาตรสักช้อนหนึ่ง ได้วิมานหลังหนึ่ง ทำอะไรได้กำไรเท่านี้บ้าง ในโลกนี้มีการทำอะไรที่ไหนที่ได้กำไรเท่านี้บ้าง ตักบาตรช้อนหนึ่ง ได้วิมานหลังหนึ่ง ใครเคยค้ากำไรได้ถึงขนาดนี้บ้าง แต่ก็ยังมีพูด ยังมีสอนกันอยู่ นี้มันคอรัปชั่นชัด ๆ ตักบาตรช้อนหนึ่งเอาวิมานหลังหนึ่ง แต่ก็ยังเรียกทำทาน ทำทาน บริจาคทาน ตักบาตรหรือทำบุญสักบาท เอาวิมานหลังหนึ่ง ไม่รู้กี่ร้อยล้านบาท นี่ก็ต้องระวัง ว่ามันเป็นการให้ทาน ที่เป็นการค้ากำไรเกินควร มันทำคอรัปชั่น คนทั้งโลก จะไม่ไหว
ให้โดยสัญชาตญาณ
ทีนี้ให้โดยสัญชาตญาณ รู้สึก เป็นความรู้สึกของสัญชาตญาณ อย่างแม่ให้ แม่ให้ แม่ให้อะไรนี้ให้หมดเลย ให้ชีวิตก็ให้ ให้อะไรก็ได้ แม่อาจจะให้แก่ลูก ให้โดยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ให้หมด ให้ชนิดที่ให้ได้หมดนี่มันก็ให้เหมือนกัน ให้โดยความรู้สึกของสัญชาตญาณ ท่านลองคิดดู ก็เคยเป็นพ่อเคยเป็นแม่กันมาแล้ว ว่ามันให้เท่าไร ถ้าให้โดยสัญชาตญาณ ความเป็นพ่อและความเป็นแม่ เพราะว่ามีไกลไปถึงขนาดว่า ให้ชีวิตก็ยังได้ บางทีตายแทนลูกก็ยังได้
ให้อย่างแลกเปลี่ยน
ทาน..ทำอย่างไรจึงจะได้บุญมาก : ๔ เอ้า ทีนี้มันเป็น “การให้ที่แลกเปลี่ยน” แลกเปลี่ยนอย่างเขาเอาอะไรมาให้เรา เราก็รู้สึกกระดาก ที่ว่าจะไม่ให้อะไรตอบแทนเขา ว่าคนที่อยู่ทางเหนือ ชาวเหนือนั้นลงไปทางทะเล ชาวเลมันเอาผักหญ้า หัวมัน หัวบอน ไปให้นั่นน่ะ มันไม่ต้องออกปากหรอก เพียงแต่ไปให้เท่านั้นแหละ เราเลยก็อด
ไม่ได้ ให้ปลา ให้กะปิ ให้อะไร ให้ชาวเหนือกลับไป นี่มัน “ให้โดยการตอบแทน” เป็นการตอบแทนเรียกว่าแลกเปลี่ยนก็ได้ เป็นการทอดไมตรีกันไว้ก็ได้ จะเรียกว่า เป็นการผูกพันอย่างยิ่ง โดยขนบธรรมเนียม โดยประเพณี เมื่อเขาเอาอะไรมาให้เรา ถ้าเราไม่ได้ให้อะไรแก่เขาเลย เราก็รู้สึกรำคาญตัวเอง ไม่สบายใจ มันจึงอดไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด มันก็ให้คำว่าขอบใจ ขอบคุณไปตามเรื่อง ให้ลม ๆ แล้ง ๆ ยังต้องให้ มันยังต้องให้ ที่จะไม่ให้อะไรเสียเลยนี่มันทนไม่ไหว
การให้อย่างนี้มันเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ก็ต้องเรียกว่าเป็นการให้อยู่นั่นเอง ถ้าท่านไม่สังเกต ไม่รู้จัก ไม่เรียกมันว่าการให้ มันก็เหมือนกับไม่มี มันก็เป็นสิ่งที่ท่านยังไม่รู้จัก ว่าแม้ในการที่เราจะต้องให้สมนาคุณแก่กันและกัน ผูกพันกันอยู่ เวลาบ้านนี้มีงาน บ้านนู้นก็เอาเงินมาช่วย พอบ้านนู้นมีงาน บ้านนี้ก็ต้องเอาเงินไปช่วยอีกนั่นแหละ เป็นการผูกพันกันอย่างนี้ แต่มันก็คือการให้ คือการให้เหมือนกัน เรียกว่าการให้เหมือนกัน เป็นการให้ในความหมายหนึ่ง ในชื่ออย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยจะเรียกกันว่าเป็นการให้ หรือเป็นการให้ทาน กลับไปเรียก เป็นการผูกมัดร่วมมือ ร่วมอะไรกันก็ไม่รู้ ไม่เรียกว่าทาน แต่ก็ควรจะรู้ไว้ว่านี่มันก็เป็นการให้ทานชนิดหนึ่ง เป็นการแลกเปลี่ยน เป็นการผูกพัน
ให้ตามธรรมเนียม
ทีนี้ก็มาถึงคู่ที่ปนกันอีกแหละ ปนกันค่อนข้างจะปนกันให้ตามธรรมเนียมกับให้ตามหน้าที่ ให้ตามธรรมเนียมนี้ไม่รู้อะไรหรอก เห็นเขาให้ก็ให้ เขามีธรรมเนียมให้ก็ให้
เคยพบแม่ชีที่จังหวัดหนึ่ง เขาให้เป็นตามธรรมเนียม เขาจะต้องเอาของที่กินได้ เล็ก ๆ น้อย ๆ ไปวางที่นั่นที่นี่ก่อน เสร็จแล้วจึงมานั่งกินเอง ว่าต้องให้เสียก่อนจึงจะกินเอง ต้องให้นก ให้หนู ให้มด ให้แมลงกิน เสร็จแล้วจึงจะมากินเอง อย่างนี้ก็เรียกว่า “ให้ตามธรรมเนียม” แต่เดี๋ยวนี้ชักจะหาดูยาก ไม่ค่อยมี มันหายไป หายไป
ให้ตามหน้าที่
ทาน..ทำอย่างไรจึงจะได้บุญมาก : ๕ ทีนี้ “ให้ตามหน้าที่” ตามหน้าที่ที่เรามีหน้าที่ที่จะต้องให้ นับตั้งแต่ว่าจะต้องสงเคราะห์เขา จนกระทั่งว่า เขาเป็นเพื่อนของเรา เป็นคนอยู่ในการดูแลคุ้มครองของเรา ก็ต้องให้ตามหน้าที่ ให้ในฐานะเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย ก็ได้ นี่ก็เรียกว่า ให้ตามหน้าที่ ให้ตามธรรมเนียม มันก็มีความหมายอันหนึ่ง ดูไม่ค่อยจะมีอะไรบังคับนัก แต่ว่าบังคับโดยอ้อม ธรรมเนียมบังคับ ทีนี้ให้ตามหน้าที่ นี่คือหน้าที่มันบังคับ มันก็ต้องให้ แม้ที่จะต้องให้ลูกให้หลานให้คนใช้ ให้บริวาร อย่างนี้ก็มี
ลักษณะตามหน้าที่อยู่มากเหมือนกัน การไม่เอา ไม่ให้ข้าว ไม่ให้สุนัขกินข้าว ไม่ให้ข้าวแก่สุนัขนี่ มันก็เรียกว่าไม่มีหน้าที่ ไม่เคารพหน้าที่ เสียหายในทางหน้าที่ เรายังต้องเอาข้าวให้สุนัขกิน ถ้าสุนัขเจ็บป่วย บางทียังต้องลำบากรักษา รักษาสุนัข ทำความสะอาดให้สุนัข รักษามันตามหน้าที่ เพราะว่าเราเป็นคนเป็นเจ้าของสุนัข แล้วมันก็พึ่งพาอาศัยเขาอยู่อย่างนี้ ตามหน้าที่ ตามหน้าที่กับตามธรรมเนียม ตามธรรมเนียม
ให้อย่างลงทุน
เอ้าทีนี้ดูกันให้ละเอียดไปอีกความหมายหนึ่ง “ให้ที่เป็นการลงทุน” อย่างนี้ก็เรียกว่าให้เหมือนกันแหละ แต่เป็นการลงทุนไปก่อน ถ้าไม่ลงทุนไปก่อน มันไม่เกิดการผูกพัน อุตส่าห์ลงทุนไปก่อน ให้เป็นการผูกพัน แล้วต่อไป มันก็จะได้ให้ กลับไป ให้กลับมา กลับไปกลับมานี่เรียกว่า ให้อย่างลงทุน แล้วผลมันก็จะกลับมามากมายมหาศาล ถ้าฉลาดกระทำในเรื่องนี้แล้ว ก็รวยได้เหมือนกัน แล้วมันเป็นวิญญาณแห่งการค้า วิญญาณแห่งการแสวงหาประโยชน์ เป็นการให้อย่างลงทุน
ให้อย่างสหกรณ์
ทีนี้มันเป็นการให้อีกอย่างมีอีกอย่าง เรียกว่า “การให้อย่างสหกรณ์” สหกรณ์เรากระทำร่วมกัน เราอยู่บ้านเดียวกัน หลาย ๆ บ้าน หลาย ๆ คน มันมีอะไรที่ต้องทำร่วมกัน ถึงถ้าเฉยแล้วมันจะเกิดยุ่งยาก ลำบากที่สุดมันมีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องช่วยกัน หรือถ้ามีการเรี่ยไร ก็ต้องช่วยกัน ในความหมายแห่งคำว่าสหกรณ์ สหกรณ์เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของหมู่บ้านนี้ ก็มีการให้ ชนิดที่มันเป็นสหกรณ์ ถึงตอนนี้ขอพูดนอกเรื่องสักหน่อยนะ คำว่าสหกรณ์ สหกรณ์นี้ช่วยจำกันไว้ให้ดี มันเป็นวิญญาณของความรอดทีเดียว มันเป็นสิ่งที่ลึกลับ ความหมายสูงสุดของธรรมชาติที่มันต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ หมายความว่าอยู่คนเดียวไม่ได้หรอก อย่าอวดดี อย่าอวดดี ถ้ากูอยู่คนเดียวในโลกได้ อย่าอวดดี เขาให้เราอยู่คนเดียวในโลก เขาไปกันหมด ให้เราอยู่คนเดียวในโลก มันก็ตาย อยู่ไม่ได้หรอก มันต้องอยู่กันครบที่มันควรจะอยู่ นี่ขอให้นึกถึงว่า ธรรมชาติแท้ ๆ ความหมายมันลึกซึ้งแท้ ๆ ของธรรมชาติมันก็อยู่กันอย่างสหกรณ์
ดวงอาทิตย์ดวงเดียวอย่าอวดดีไปว่า กูอยู่ได้ มันอยู่ไม่ได้ ดวงอาทิตย์ดวงเดียวก็อยู่ไม่ได้ มันต้องมีอะไรที่เป็นเนื่องกันกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวนั่นนี่หลายอย่าง เป็นระบบสุริยะจักรวาลระบบหนึ่ง ครบถ้วนนั่นน่ะมันจึงอยู่ได้ แล้วมันต้องหลายจักรวาล หลาย ๆ จักรวาลในหนึ่งจักรวาลมันก็หลายจักรวาล หลาย ๆ จักรวาลก็อยู่กันเต็มไปหมดในที่ว่างนี้ อยู่กันอย่างสหกรณ์ อยู่เดี่ยว ๆ ไม่ได้ มันไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ต้องอยู่พร้อม ๆ กันอย่างสหกรณ์นี้ ธรรมชาติลึกซึ้ง ลึกซึ้งที่สุด มันก็อยู่กันอย่างสหกรณ์ ที่ในระบบสุริยจักรวาลเดี่ยว ๆ มันก็ยังต้องสหกรณ์ระหว่างดวงอาทิตย์ ระหว่างดวงจันทร์ ระหว่างดวงดาวที่เป็นบริวารไม่กี่ดวงของดวงอาทิตย์ มันก็อยู่กันอย่างสหกรณ์ ที่ในดวงดาวดวงเดียวเช่นตัวโลกหรือดวงจันทร์ หรือดวงดาวดวงไหนก็ตาม ในนั้นก็ต้องอยู่กันอย่างระบบสหกรณ์
อย่างในโลกนี้ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างน้อยก็สหกรณ์ ออกมาเป็นสัตว์ ออกมาเป็นต้นไม้ ออกมาเป็นมนุษย์ ก็ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ แม้แต่เป็นต้นไม้อยู่ต้นเดียว ก็อยู่ไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ ต้นเล็กอาศัยต้นใหญ่ ต้นใหญ่อาศัยต้นเล็ก ต้นเล็ก ๆ ก็ให้ต้นใหญ่ได้ความชื้น ต้นใหญ่ก็ให้ร่มเงาแก่ต้นเล็ก ๆ ตะไคร่เขียว ๆ มันก็มีประโยชน์แก่ต้นใหญ่ ๆ ต้นใหญ่ ๆ ก็มีประโยชน์แก่ตะไคร่เขียว ๆ มันสหกรณ์กันอย่างนี้ โลกต้นไม้มันก็ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ พอหมดสหกรณ์มันก็ตายแหละ
ทีนี้สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกัน ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ มีอะไรครบถ้วน มิฉะนั้นมันจะอยู่ไม่ได้ มันจะอยู่ไม่ได้ แต่อธิบายก็ยากนะ ดูเอาเองก็พอจะเห็นว่า มันต้องเป็นสหกรณ์อยู่กันในป่า อยู่กันอย่างสหกรณ์ ทำหน้าที่ในป่านี้คนละอย่าง คนละอย่าง แล้วทำให้ป่ามันอยู่ได้ มันยังสหกรณ์พิเศษ ช่วยกันควบคุมให้เกิดความถูกต้อง ต้องมีสัตว์ชนิดที่คอยทำลายสัตว์ชนิดอื่น ให้มันอยู่กันอย่างพอดี ให้มันอยู่กันอย่างพอดี ถ้าไม่มีอะไรกินหนู หนูก็เต็มไปทั้งโลก มันอยู่ได้ที่ไหน มันไม่มีอะไรคอยกินหนู ถ้าไม่มีอะไรคอยกินหนอน หนอนก็กินต้นไม้หมด ไม่มีอะไรเหลือสักต้น ระบบสหกรณ์อันเร้นลับมันมีอยู่อย่างนี้ ทาน..ทำอย่างไรจึงจะได้บุญมาก : ๗
นี่มนุษย์ พอมาถึงมนุษย์ก็ต้องอยู่กันอย่างสหกรณ์ แม้จะเป็นสมัยคนป่ายังไม่นุ่งผ้า มันก็ต้องยังสหกรณ์มนุษย์พวกหนึ่ง ทำอะไรอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนกัน พอมาถึงสมัยปัจจุบันแล้ว ยิ่งมีความหมายแห่งสหกรณ์มากมายเหลือเกิน เพราะว่าคน ๆ หนึ่งจะต้องมีการพึ่งพาอาศัยทางเครื่องนุ่งห่ม ไม่รู้สักกี่ร้อยกี่พันคนสร้างเครื่องนุ่งห่ม สร้างที่อยู่อาศัยกี่ร้อยกี่พันคน สร้างหยูกสร้างยากี่ร้อยกี่พัน สร้างสารพัดอย่าง ซึ่งล้วนแต่ต้องสร้างกันมากมาย แต่เราไม่คิด ไม่มอง เราก็ไม่เห็น ก็อวดดี อวดดี กูอยู่คนเดียวได้ เท่าที่มันอยู่ที่เนื้อที่ตัว มันต้องอาศัยกันคนกี่มากน้อย นาฬิกาข้อมือของคุณเรือนหนึ่ง มันต้องอาศัยคนกี่ร้อยหรือร้อยล้านคน กี่พันคนที่จะผลิตมันขึ้นมาได้ ตั้งแต่แรกว่ามันจะผลิตออกมาเป็นธาตุชนิดใดชนิดหนึ่งครบทุก ๆ ธาตุ แล้วยังต้องรู้เรื่องประกอบขึ้นมาเป็นนาฬิกา แล้วยังต้องขนส่งต้องซื้อสารพัดอย่าง ต้องมีคนขาย มันเนื่องกันเป็นสหกรณ์ ถ้ามันสหกรณ์กันได้อย่างถูกต้อง มันก็มีผลน่าพอใจ
แต่เดี๋ยวนี้มันพร้อมที่จะเป็นสหโกง มันพร้อมที่จะเป็นสหโกงกันอยู่เสมอ สหกรณ์นี้อายุสั้น ๒-๓ ปีล้ม ๒-๓ ปีล้ม สหกรณ์ล้มเรื่อยเพราะมันมีแต่สหโกง มันไม่เคารพไอ้วิญญาณของธรรมชาติ ที่กำหนดมาว่าต้องอยู่กันอย่างเป็นสหกรณ์ ต้นไม้ต้นไร่ก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี มนุษย์ก็ดี ต่อให้เทวดาก็ดี มันขึ้นอยู่อย่างไม่สหกรณ์ มันก็ตายหมดแหละ มันอยู่กันอย่างผูกพันเป็นสหกรณ์เราก็ต้องให้ในฐานะที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ อย่างบ้านนี้พอเขาจะสร้างสะพาน สร้างอะไร มันก็ต้องออกกันทุกคน เงินบ้างแรงบ้าง ออกกันทุกคนจึงมีความเป็นสหกรณ์ เมื่อเราสร้างถนนเส้นนี้ใหม่ ๆ ตอนแรกยังไม่มี จากตรงนู้นมาสู่ตรงนี้ ก็มีคนมาช่วย ชาวบ้านมาช่วย คิดว่าจะได้เกิดถนนขึ้นมา แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็หลายคนเหมือนกันแหละ ฉันไม่ช่วย ฉันจะคอยเดิน ฉันจะเป็นผู้เดิน จะคอยเดินไม่ให้เสียเปล่า ถ้าอธิบายอย่างนั้นก็มี มันก็เป็นสหกรณ์ ช่วยทำให้ถนนไม่เป็นหมัน
นี่โลกนี้มันยังไม่มี “วิญญาณแห่งสหกรณ์ที่ถูกต้อง” ถ้ามันมีวิญญาณแห่งสหกรณ์ที่ถูกต้อง มันดีกว่านี้มาก มันดีกว่านี้มาก บ้านเมืองมันดีกว่านี้มาก มันรักบ้าน รักเมือง รักประเทศชาติกันดีกว่านี้มากมาย เดี๋ยวนี้มันไม่รับผิดชอบ มันคอยแต่จะเอาประโยชน์ พร้อมที่จะเป็นสหโกง สหกรณ์จึงเหลืออยู่น้อยมาก หาทำยาหยอดตาไม่ค่อยจะได้ เผลอมันโกง เผลอมันโกง นี่สหกรณ์เอาเถิด เราต้องทำทาน บริจาคทานอย่างในฐานะที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ก็ขอให้ทำเถอะ มันก็จะเป็นทานชนิดหนึ่งเหมือนกัน แล้วบางทีก็จะเป็นทาน ชนิดที่ท่านทั้งหลายยังไม่รู้จักก็ได้ นับไว้ในเรื่องนี้ ทานที่ยังไม่รู้จัก
ให้เพื่อสร้างบารมี
เอ้า ทีนี้ทานที่ให้ไปเพื่อสร้างบารมี คำว่าทานนี่เป็นชื่อของบารมีใน ๑๐ บารมีของพระพุทธเจ้า ให้ทานออกไปเพื่อสร้างบารมี อย่าคิดว่าเราไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า เราจะสร้างบารมีไปทำไม มันไม่ถูก
คนเราจะต้องมีการให้ เพื่ออยู่ร่วมกันในโลกนี้ ต้องมีการทำให้จิตใจรักผู้อื่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานออกไป ไม่กินคนเดียว ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าน่ะดีมาก คือไม่กินคนเดียว ไม่อาจจะนั่งกินคนเดียว ถ้าใครผ่านมาต้องชวนกินด้วย แล้วก็อยากให้เพื่อนมากินข้าวบ้านเรา ความขี้เหนียวมันก็มีอยู่ในใจ มันก็รู้สึกแต่แล้วมันก็ค่อย ๆ ลด พยายามที่จะลดความตระหนี่ขี้เหนียวออกไปบ้างทีละนิดทีละหน่อย ทีละนิดทีละหน่อย
ด้วยความที่อยากจะเป็นคนใจกว้างนี่ แม้ไม่ต้องมีใครสอน มันก็เกิดได้ด้วยความรู้สึก ว่าเราอยากจะให้ขึ้นมา อยากจะให้ขึ้นมา จะดีจะวิเศษยังไงก็ไม่รู้ แต่ฉันอยากจะให้ ฉันอยากจะมีการให้ขึ้นมา มันก็เป็นการสร้างบารมี เพื่อดีกว่าคนธรรมดา สร้างบารมีเพียงเพื่อดีกว่าคนธรรมดา ให้ทานมากขึ้นกว่าคนธรรมดาเรื่อยไป ๆ ก็เรียกว่าสร้างบารมี ทาน..ทำอย่างไรจึงจะได้บุญมาก : ๘
นี่ค่อย ๆ เกิดผลเป็นที่รักใคร่นับถือพอใจ แล้วก็มีบารมีจริงด้วย คือมีเพื่อนมาก ออกปากวานใครก็มีแยะเท่านั้น บารมีมันเกิดแล้ว ถ้ามันได้สร้างทานบารมีไว้มาก เดี๋ยวบารมีมันก็เกิด พอมีอะไรขอแรงเพื่อนมาเต็มบ้าน มาช่วยกัน ไม่ต้องเป็นพระพุทธเจ้าหรอก บารมีที่สร้างไว้ทุกอย่างตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้สอนไว้ โดยเฉพาะทานบารมี อย่าขี้เหนียว อย่าขี้เหนียว ขี้เหนียวนั้นคือว่า มันไม่สร้างบารมี แล้วยังจะหดหรือทำให้อด