พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย
( ระหว่าง พ.ศ. ๑๒๐๐ - ๑๗๐๐ )
พระพุทธรูปสมัยนี้ เป็นแบบอย่างฝีมือช่างของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งราชธานีอยู่ในเกาะสุมาตราข้างทิศประจิมของเมืองปาเล็มบังในบัดนี้ แผ่อาณาเขตไปจนเกาะชวาและมาในแหลมมลายูของไทย มีเมืองนครศรีธรรมราชและไชยาเป็นต้น ศิลปวิทยาของช่างกรุงศรีวิชัย จึงได้แพร่หลายมาถึงปักษ์ใต้ของประเทศสยาม ศิลปของกรุงศรีวิชัยนี้เดิมทีเดียวก็ได้รับมาจากชาวอินเดียเหมือนกันกับพวกกรุงทวารวดี แต่จะรับมาเมื่อไรได้แต่สันนิษฐาน เห็นจะเป็นคราวเดียวกับที่พวกอินเดียฝ่ายใต้ไปตั้งเมืองจัมปานคร ซึ่งเรามักเรียกกันว่าเมืองจาม อยู่ริมทะเลในแดนญวนข้างใต้เมืองเว้บัดนี้ เพราะของโบราณยุคนี้เป็นต้นว่า รูปจำหลักหรือลวดลาย หรือแบบอย่างการทำเจดีย์วัตถุทั้งที่ในชวา ในเมืองไทย และที่เมืองจาม แบบอย่างละม้ายคล้ายกันมาก คงจะเป็นสกุลช่างอันเดียวกันเป็นแน่
ลักษณะพระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย
เกตุมาลาเป็นต่อมสั้นคล้ายสมัยทวารวดี แต่ขมวดพระเกศเล็กละเอียดกว่าสมัยทวารวดี โดยมากมีไรพระศก แต่ถ้าไม่มีไรพระศกมักมีอุณาโลมในระหว่างพระโขนง และมีใบโพธิ์ติดที่พระเกตุมาลา พระนลาตเรียบ พระโขนงโก่ง พระพักตร์แบนเหมือนสมัยทวารวดี แต่พระหนุไม่ป้านเหมือนสมัยทวารวดี พระโอษฐ์ไม่แบะ สังฆาฏิยาวลงมาใต้พระถัน บัวรองฐานกลีบใหญ่ มีส่วนกว้างมากกว่าของสมัยทวารวดี กับมีกลีบเล็กแซมตั้งแต่ ๑ ถึง ๓ กลีบ เกสรละเอียด พระหัตถ์และพระบาทมักทำได้ส่วนกับพระองค์ ไม่ใหญ่เหมือนของสมัยทวารวดี ถ้าเป็นพระนั่งโดยมากมีเรือนแก้วด้วย แต่ต่างกับของสมัยทวารวดีซึ่งมักทำเป็นเก้าอี้ สมัยนี้มักทำเป็นรูปใบโพธิ์และมียอดเป็นฉัตร ถ้าเป็นพระยืนบางทีไม่มีชายจีวรเลย ที่มี ๒ ข้างและข้างเดียวเหมือนสมัยทวารวดีก็มี
พระพุทธรูปสมัยนี้มีน้อย มีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก เพราะเป็นคติมหายานซึ่งนับถือพระโพธิสัตว์เป็นสำคัญ มักได้พบทางปักษ์ใต้ มีจังหวัดสุราษฎร์ นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นต้น ทางเหนือเคยได้พบบ้างในจังหวัดมหาสารคาม แต่เป็นของขนาดเล็กซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะมีผู้พาเอาไปไว้ภายหลังก็เป็นได้ เท่าที่ได้พบมาแล้วมี ๖ ปางคือ
๑. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ทำด้วยโลหะ
๒. ปางลีลา ทำด้วยโลหะ
๓. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำด้วยโลหะ
๔. ปางโปรดสัตว์ ทำด้วยโลหะ
๕. ปางประทานอภัย ทำด้วยโลหะ
๖. ปางนาคปรก ทำด้วยโลหะ
ที่เป็นปางสมาธิ ปางมหาปาฏิหาริย์ และปางเทศนา มีพบแต่ที่ทำเป็นพระพิมพ์