ทวารดี ใช้เรียกชื่อศิลปะหรือวัฒนธรรมที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 -16 ด้วยเหตุที่รูปแบบของอาณาจักรยังไม่ชัดเจน มีข้อสันนิษฐานเรื่องศูนย์กลางของอาณาจักรอยู่ที่ เมืองอู่ทอง นครปฐม หรือ ลพบุรี แต่ในปัจจุบันเชื่อว่าเมืองลพบุรีหรือละโว้น่าจะเป็นศุนย์กลางของอีกอาณาจักรหนึ่งที่ร่วมสมัยกันกับทวารวดีประกอบกับทวารวดีมีช่วงระยะเวลาอันยาวนาน และแพร่กระจายครอบคลุมไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้พบงานประติมากรรมเป็นจำนวนมาก ทั้งในพุทธศาสนาแบบเถรวาท มหายานและศาสนาพราหมณ์ รวมทั้งรูปแบบของศิลปกรรมน่าจะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น แต่มีรูปแบบชองวัฒนธรรมแบบเดียวกัน ด้วยเหตุนี้จึงอาจเรียกหรือจัดเป็น "อารยธรรมทวารวดี" หรือ "วัฒนธรรมทวารวดี"
1 ทวารวดียุคแรก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - ต้น 13 พระพุทธรูปยังคงลักษณะของพระพุทธรูปของศิลปะอินเดียแบบอมราวดี คุปตะ - หลังคุปตะ
2 ทวารวดียุคที่ 2 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 -15 เป็นพระพุทธรูปมีลักษณะที่เป็นแบบพื้นเมือง เป็นแบบที่พบมากที่สุด
3 ทวารวดียุคที่ 3 อิทธิพลของศิลปะเขมร พุทธศตวรรษที่ 16 - 17 มีอิทธิพลของศิลปะเขมรสมัยบาปวน หรือ สมัยลพบุรีตอนต้นเข้ามาปะปน
พระพุทธรูปสมัยนี้ที่ได้พบแล้ว มี ๘ ปางด้วยกัน คือ
๑.ปางปฐมเทศนา ปางนี้ทำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กด้วยศิลาและโลหะ มีทั้งอย่างนั่งห้อยพระบาท และนั่งขัดสมาธิ
๒.ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ ควรสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า การขัดสมาธิของพระสมัยนี้ผิดกับสมัยอื่นๆ คือขัดหลวมๆ บางทีพอฝ่าเท้าซ้อนกันเท่านั้น และบางรูปแปลกมากๆ คือขัดปลายเท้าเสียบลง จนเห็นก้นเผยอขึ้น
๓. ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร ปางนี้มีน้อยพบแต่ทำด้วยโลหะ
๔. ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๕. ปางมหาปาฏิหาริย์ พบแต่ทำด้วยศิลา
๖. ปางประทานอภัย ทำทั้งด้วยศิลาและโลหะ
๗. ปางประทานพร พบแต่ทำด้วยศิลา
๘. ปางโปรดสัตว์ ( คือพระหัตถ์ขวาจีบนิ้วพระหัตถ์ท่าแสดงธรรม พระหัตถ์ซ้ายหงายฝ่าพระหัตถ์ไปข้างหน้า ในท่าประทานพร ) พบแต่ทำด้วยโลหะ