โดย : admin | เมื่อ : 2017-04-18 15:06 | เข้าชม : 1719
ธรรมะสอนใจ : แก่นแท้ (หัวใจ) ของพุทธศาสนา “เมื่อกำลังเดินกันอยู่ในป่า พระพุทธเจ้าท่านกำใบไม้ที่เรี่ยราดอยู่ที่พื้น ขึ้นมากำมือหนึ่ง แล้วถามภิกษุทั้งหลายในที่นั้นว่า ใบไม้ที่กำขึ้นมานี้หากเทียบจำนวนกับใบไม้หมดทั้งป่า มันมากน้อยกว่ากันเท่าไหร่ ทุกคนก็ได้เห็นว่ามันมากกว่ากันมาก จนเปรียบกันไม่ไหว พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่า นี่มันอย่างนี้ คือ เรื่องที่ตรัสรู้และรู้นั้นมันมาก เท่ากับใบไม้ทั้งป่า แต่เรื่องจำเป็นที่ควรรู้ ควรนำมาสอนและนำมาปฏิบัตินั้น เท่ากับใบไม้กำมือเดียว” คราวหนึ่งมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้า โดยทูลว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัสสอน ถ้าจะสรุปให้สั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านว่าได้ พระองค์ตรัสว่า “สพฺเพ ธฺมา นาลํ อภินิเวสาย” – “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” แล้วพระองค์ก็ย้ำลงไปอีกทีหนึ่งว่า “ถ้าใครได้ฟังความข้อนี้ คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา” ------------------------------------------------------------------ สืบเนื่องจากที่ผมพยายามค้นหาข้อมูลกับคำคม ที่ว่า “ธรรมทั้งหลายไม่ควรยึดมั่น” ทำให้ผมได้ แวะเข้าไปอ่านข้อมูลที่ได้อธิบายถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา หรือ หัวใจของพระพุทธศาสนาจากในหลายๆที่ ซึ่งแต่ละแหล่งข้อมูลก็ได้หยิบยก บอกกล่าว แสดงนานาทัศนะ ไว้หลากหลาย… แต่ผมมาสะดุดกับบทความ 2 บทข้างต้น เพราะมันเป็นบทความ ธรรมะสอนใจ ที่ตรงพอดีกับคำคมที่ผมอยากรู้ความหมาย โดยบทความ 2 บทนี้คัดมาจาก หนังสือธรรมะเ รื่อง “แก่นพุทธศาสน์” ของท่านพุทธทาส ภิกขุ ผมได้อ่านหนังสือนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ รู้สึกประทับใจยิ่งนัก เป็น ธรรมะบรรยาย ที่ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้แสดงไว้ ในการชุมนุมศึกษาพุทธธรรม ที่โรงพยาบาลศิริราช ในปี พ.ศ. 2505 … สำหรับเนื้อหาใจความนั้น ... หากจะใช้ภาษาสมัยใหม่ ก็สามารถกล่าวได้ว่า ท่านได้บรรยายธรรมชุดนี้ แยกไว้เป็นซีรีย์ 3 ภาค ต่อเนื่องกัน (ฉายคนละวัน 3 วัน) ภาคแรก ชื่อ “ใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา” ภาคสอง ชื่อ “ความว่าง” ภาคสาม ชื่อ “วิธีปฏิบัติเพื่อเป็นอยู่ด้วยความว่าง” (ไว้หากมีเวลา จะสรุปโดยย่อเป็น ธรรมะสอนใจ เดอะซีรีย์ ให้อ่านกัน) ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่ที่ผมได้เข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา อันเนื่องจากตัวเองมีความทุกข์ และอยากหาวิธีดับความทุกข์ (หรืออย่างน้อยก็บรรเทาความทุกข์นั้น) ... ผมได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูล อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเสียงธรรม ดูคลิป วีดีโอธรรมะ ไปพอสมควร (แต่ผมก็ยังคิดว่ามันยังน้อยอยู่) รวมถึงไปทำบุญ สวดมนต์ ฝึกนั่งสมาธิ บอกตามตรง ผมไม่เข้าใจเลยว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้น มันจะช่วยให้ผมหายทุกข์ได้อย่างไร ... ผมสักแต่ว่า ทำไปตามคำบอก คำเล่า คำสอน เหล่านั้น โดยที่ไม่รู้แจ้งถึงความหมายที่แท้จริงในสิ่งตัวเองทำ ผมพลาดเรื่องสำคัญที่สุดไป ตั้งแต่แรกเริ่ม ... คือ ผมรู้แล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาของศาสนาพุทธหลักธรรมคำสอนทั้งหลายก็มาจากพระองค์ แต่ผมดันลืมถามตัวเองไปว่า ธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงสอนนั้น สรุปๆแล้วทรงสอนอะไร ? ถ้าพูดกันภาษาชาวบ้านก็ เอาแต่เนื้อๆไม่เอาน้ำ ... พระพุทธเจ้าท่านสอนอะไรเรา? พระพุทธเจ้าท่านต้องการสื่อหรือบอกอะไรให้เรา? ผมคิดว่า คำถามนี้มันเป็นคำถามสำคัญ สำหรับชาวพุทธทุกคน ที่ควรจะต้องรู้คำตอบเป็นอันดับแรก ก่อนจะเริ่มต้นศึกษาธรรมะกัน เนื้อหาใน หนังสือธรรมะ เรื่อง “แก่นพุทธศาสน์” นี้ ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้ให้คำตอบไว้อย่างชัดเจนว่า บทสรุปของคำสอนทั้งหมดทั้งสิ้นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มันคืออะไร? ผมกล้ายืนยันได้เลยว่า ถ้าใครได้อ่านหรือได้ฟัง ในธรรมบรรยายนี้ ... ก็ไม่เสียชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และพบกับพระพุทธศาสนาแล้ว ... ส่วนท่านจะเข้าใจได้หรือไม่ จะนำไปปฏิบัติหรือไม่ และจะสามารถปฏิบัติได้หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับตัวของท่านเอง ดังคำที่พระองค์ทรงตรัสไว้ “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” “ถ้าใครได้ฟังความข้อนี้ คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา” “ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา” “ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา”