โดย : admin | เมื่อ : 2017-04-18 15:01 | เข้าชม : 1673
O หัวใจพระพุทธศาสนา
หัวใจพระพุทธศาสนา ๓ ประการ ที่โปรดประทานไว้เป็นหลักประกาศพระพุทธศาสนา คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม การชำระจิตให้ผ่องใส
และธรรมะหมวดอื่นที่ทรงสอน เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ ทาน ศีล ภาวนาล้วนแสดงให้เห็นประจักษ์แจ้งว่าพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาและพระปัญญาใหญ่ยิ่งจริงแท้และทรงแสดงไว้แจ้งชัดในพระพุทธศาสนา
O พระพุทธองค์ ผู้ยิ่งด้วยพระปัญญาคุณ
พระกรุณาคุณ และพระวิสุทธิคุณ
พระกรุณาคุณ และพระวิสุทธิคุณ
ทุกคนมีการกระทำคำพูดเป็นเครื่องแสดงออกของจิตใจ ใจเป็นเช่นไรการกระทำคำพูดจะเป็นเช่นนั้น พระพุทธศาสนาเป็นการกระทำของพระพุทธเจ้าจึงเป็นเครื่องแสดงพระพุทธหฤทัยอย่างชัดเจนเป็นเครื่องรองรับพระพุทธประวัติว่าเป็นจริง ดังแสดงเรื่องราวไว้ต่างๆที่ล้วนทรงยิ่งด้วยพระคุณ ทั้งพระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ
O พระผู้มีมหากรุณาคุณ อย่างหาผู้ใดเปรียบไม่ได้
ในพระประวัติของพระพุทธเจ้า มีกล่าวแสดงไว้ว่าเหตุเพราะได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกข์ของคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงมีพระมหากรุณาปรารถนาจะช่วยมิให้มีผู้ต้องได้รับความทุกข์เช่นนั้นต่อไป
จึงตรงตัดพระหฤทัยสละความสูงส่ง ความสมบูรณ์บริบูรณ์ทุกประการที่ทรงเสวยอยู่เสด็จออกทรงเผชิญความทุกข์ยากนานาประการเพื่อแสวงหาทางที่จะทรงสามารถนำไปสู่ความพ้นทุกข์ของสัตว์โลกทั้งปวง
พระพุทธศาสนามีจุดเริ่มเกิดที่ตรงนี้ตรงที่ทรงมีพระมหากรุณาอย่างบริสุทธิ์แท้จริงต่อสัตว์โลกไม่มีความกรุณาของผู้ใดเปรียบได้ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรดำเนินตามพระพุทธองค์
O พระมหากรุณาอันบริสุทธิ์แท้จริง
พระพุทธศาสนา มีพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าเป็นจุดเริ่มต้นและมีพระมหากรุณาสืบเนื่องโดยตลอด มิได้ว่างเว้นแม้จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ก็ปรากฏพระมหากรุณาที่ประทับลึกซึ้งจิตใจยากที่ผู้ใดจะสามารถพรรณนาได้ถูกต้อง
ทรงรับประเคนสุกรมัททวะ อาหารที่นายจุนทะถวายแล้วรับสั่งให้นำส่วนที่เหลือไปฝังเสียทั้งหมด มิให้ถวายพระรูปอื่นต่อไปเสวยอาหารของนายจุนทะ แล้วต่อมาทรงลงพระโลหิต
ก่อนแต่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงมีพระมหากรุณาห่วงใยจิตใจของนายจุนทะว่าจะต้องเศร้าเสียใจยิ่งนักเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสวยอาหารของนายจุนทะแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานและผู้คนทั้งหลายเมื่อล่วงรู้ก็จะกล่าวโทษนายจุนทะ
ด้วยพระมหากรุณาล้นพ้นทรงมีพระพุทธดำรัสให้พระอานนทเถระไปปลอบนายจุนทะไม่ให้เสียใจแต่ให้โสมนัสด้วยรับสั่งว่าผู้ที่ถวายอาหารมื้อสุดท้ายได้บุญเสมอกับผู้ถวายอาหารก่อนแต่จะทรงตรัสรู้
กล่าวได้ว่า แม้พระชนมชีพก็สิ้นสุดลงด้วยพระมหากรุณาอย่างบริสุทธิ์...แท้จริงหามีความกรุณาของผู้ใดจะเปรียบได้ไม่มีเลย ผู้นับถือพระพุทธศาสนาจึงควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินตามรอยพระพุทธบาท
ยกพระบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เมืองไทยร่มเย็นเป็นสุขเพราะเป็นเมืองพระพุทธศาสนา คนเย็นอยู่ที่ใดที่นั้นย่อมเย็นศาสนาเย็นอยู่บ้านเมืองใด บ้านเมืองนั้นก็ย่อมเย็น พระพุทธศาสนาเย็นนักเพราะพระพุทธเจ้าทรงเย็นยิ่ง พระอรหันต์พุทธสาวกทั้งปวงก็เย็น
พุทธศาสนิกแม้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนาจริงย่อมมีโอกาสเป็นผู้เย็นด้วยกันทั้งนั้น เย็นด้วยความไกลจากกิเลสอันร้อยเย็นด้วยความดี ถึงวันนั้นเมื่อใดย่อมได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตผู้มั่นคนในความดีของตนย่อมไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและสรรเสริญย่อมสามารถยังความเย็นให้เกิดขึ้นได้ในทุกที่ที่เข้าไปสู่มากน้อยตามความเย็นแห่งตน
O วาจาอันชนผู้ใดกล่าวดีแล้ว
วาจานั้นเป็นมงคลอันสูงสุด
วาจานั้นเป็นมงคลอันสูงสุด
พุทธภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้แปลความว่า “พึงกล่าวถ้อยคำอันไม่เป็นเหตุให้ใครๆ ขัดใจไม่หยาบคาย เป็นเครื่องให้ความรู้ได้และเป็นคำจริง เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นพราหมณ์” นี้แสดงถึงพระกรุณาคุณอย่างยิ่งประการหนึ่ง
พระกรุณาที่หยั่งลงในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ทรงปรารถนาที่จะถนอมรักษาทุกจิตใจไม่ให้ขัดเคืองขุ่นข้องบอบช้ำแม้เพียงด้วยวาจา
อันวาจานั้น สามารถยังให้เกิดได้ทั้งความรู้สึกที่ดี และทั้งความรู้สึกที่ไม่ดีความเบิกบานแช่มชื่นแจ่มใสเป็นสุขอย่างยิ่งก็เกิดได้เพราะวาจาความสลดหดหู่เร่าร้อนรุนแรง เป็นทุกข์แสนสาหัสก็เกิดได้เพราะวาจาวาจาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ด้วยพระมหากรุณาพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระพุทธประสงค์เกี่ยวกับวาจาไว้ในธรรมทั้งปวงให้เป็นที่ปรากฏแก่โลก ว่าถึงสังวรระวังวาจาเช่นเดียวกับกายและใจพึงปฏิบัติธรรมพร้อมทั้งกายวาจาและใจ เป็นต้น ในมงคลสูตรได้แสดงไว้ว่า “วาจาอันชนกล่าวดีแล้ว ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด”
O ธรรมทาน ยิ่งกว่าทานทั้งปวง
ทาน คือ การให้สิ่งที่สมควรแก่ผู้ที่สมควรให้ แก่ผู้ที่สมควรได้รับความสมควรเป็นความสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่ง
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เป็นผู้ให้ ย่อมมิทรงหมายให้ให้โดยไม่พิจารณาความสมควรแต่ย่อมทรงหมายถึงความสมควรให้สิ่งที่สมควรแก่ผู้ที่สมควรแก่สิ่งนั้นผู้รับไม่ปฏิเสธที่จะรับเห็นค่าของสิ่งที่จะได้รับนั้น
รับแล้วจะเป็นคุณประโยชน์แม้การดุว่าตำหนิติเตียนผู้ที่สมควรได้รับการดุว่าตำหนิติเตียนเพื่อเป็นการช่วยเหลืออบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดี พระพุทธเจ้าทรงถือว่าเป็นทานเป็นธรรม เป็นธรรมทาน ที่ทรงกล่าวว่า ยิ่งกว่าทานทั้งปวง
O ธรรมทานที่บริสุทธิ์ แท้จริง
ต้องเริ่มต้นจากการมีอภัยทาน
ต้องเริ่มต้นจากการมีอภัยทาน
ธรรมทานอันเป็นการดุว่าตำหนิติเตียนสั่งสอนด้วยหวังให้กลับตัวกลับใจจากความไม่ถูกต้องมาสู่ความถูกต้องจากความไม่ดีงามมาสู่ความดีงาม นี้จะเป็นธรรมทานที่บริสุทธิ์ได้จริงจะต้องเริ่มต้นด้วยมีอภัยทาน คือ
ผู้จะให้ธรรมทานดุว่าตำหนิติเตียนสั่งสอนด้วยหวังดีหวังให้เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี เปลี่ยนจากผิดเป็นถูกจะต้องให้อภัยในความร้ายกาจของความไม่ถูกที่ตนพบเห็นให้ได้ก่อนธรรมทานเช่นนี้จึงต้องมีอภัยทานเป็นส่วนประกอบสำคัญ
ผู้จะให้ธรรมทานเช่นนี้ จะต้องสะอาดจากความโกรธแค้นขุ่นเคืองใจอันเกิดจากได้รู้ได้เห็นการกระทำคำพูดที่ไม่ดีงามไม่ถูกต้อง เป็นที่กระทบกระเทือนใจทานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ จึงมีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวางอย่างยิ่ง
O พรที่ประเสริฐ
การบำเพ็ญกุศลนั้น น่าจะถือได้ว่าเป็นการให้พรตัวผู้ทำกุศลเองประการหนึ่งนอกไปจากพรที่ได้รับจากผู้อื่นที่มีผู้อื่นให้ พรทั้งสองประการนี้ผู้รับจะรับได้เพียงไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการทำใจเป็นสำคัญที่สุด
พร คือ ความดี การให้พรก็เช่นเดียวกับการรับวัตถุสิ่งของ จะต้องมีเครื่องรับการรับวัตถุต้องมีเครื่องรับเป็นวัตถุ เช่น มือ ภาชนะอื่นๆไม่เช่นนั้นจะรับวัตถุใดไม่ได้ แม้มีผู้ส่งให้ ผู้รับไม่มีเครื่องรับไม่ยื่นมือมารับ ของก็จะหายหกตกหล่นหมดสิ้น จะรับไว้เป็นสมบัติของตนไม่ได้
O ไม่มีอะไรจะรับพรได้...นอกจากใจ
การรับพรก็เช่นกัน แต่เมื่อพรมิใช่เป็นวัตถุจะเตรียมเครื่องรับที่เป็นวัตถุเช่นมือหรือภาชนะอื่นๆ ย่อมรับไม่ได้พรเป็นเครื่องของจิตใจ คือ ผู้ให้ตั้งใจด้วยปรารถนาให้พรโดยเปล่งเป็นวาจาบ้างหรือเพียงนึกในใจบ้าง
การจะสามารถเป็นผู้รับพรอันเป็นเรื่องของจิตใจได้จะต้องเตรียมเรื่องรับที่เกี่ยวกับจิตใจเช่นกัน และก็มีเพียงอย่างเดียวคือ ใจไม่มีอะไรอื่นจะทำให้สามารถรับพรได้นอกจากใจ ใจเท่านั้น ที่สามารถรับพรได้ทั้งพรที่ตนเองให้ตนเอง และพรที่ผู้อื่นให้ นั่นก็คือต้องทำใจให้พร้อมที่จะรับพรได้
มีใจอยู่ เหมือนมีมืออยู่ เมื่อมีผู้ส่งของให้ ก็ต้องยื่นมือออกไปรับไปถือจึงจะได้ของนั้นมา ไม่ยื่นมือออกรับออกถือ ก็รับไม่ได้ ก็ไม่ได้มาและแม้เป็นของที่ดีที่สะอาด มือที่รับไว้เป็นมือที่สะอาดของดีที่สะอาดก็จะไม่แปดเปื้อนความสกปรกที่มือจะเป็นของดีของสะอาดควรแก่ประโยชน์จริง
O พึงพิจารณาถึงเหตุของพรที่ได้รับให้ถ่องแท้
การรับพร ต้องน้อมใจออกรับ คือ ใจต้องยินดีที่จะรับ และต้องเป็นใจที่สะอาดไม่เช่นนั้นจะรับพรไม่ได้ พรที่ตนเองพยายามให้แก่ตนเองก็รับไม่ได้พรที่ขอจากผู้อื่นก็รับไม่ได้
เพื่อให้สามารถรับพรอันเกิดจากการบำเพ็ญกุศลด้วยตนเองผู้ทำกุศลต้องมีใจผ่องใสเตรียมรับ ขณะกำลังรับ และเมื่อรับไว้แล้วและด้วยใจที่ผ่องใสนั้นพึงพิจารณาที่มีผู้ให้ ให้เข้าใจกระจ่างชัดว่าพรนั้นเป็นผลของเหตุใด
เพราะธรรมดา เมื่อให้พร พรนั้นก็เป็นการแสดงชัดแจ้งเพียงส่วนผลส่วนเหตุเร้นอยู่เบื้องหลัง เมื่อให้พรสั้นๆ เพียงผลแม้มิได้แสดงเหตุแต่ก็เท่ากับให้พรที่รวมทั้งเหตุแห่งผลนั้นด้วย
O การรับพรที่ให้ผลสมบูรณ์จริง
เช่น เมื่อมีผู้ให้พรว่า ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละผู้จะสามารถรับพรนั้นได้จะต้องมีใจผ่องใส พิจารณาให้เห็นตลอดสายให้เข้าใจว่าพรที่แท้จริงสมบูรณ์ คือ ขอให้รักษาตัว รักษาใจให้ดี อย่าให้เศร้าหมองจะได้มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุข มีกำลังแข็งแรง
พรนี้มีทั้งส่วนเหตุที่เร้นอยู่ไม่แสดงแจ้งชัด คือ ขอให้รักษาตัว รักษาใจให้ดีอย่าให้เศร้าหมอง ส่วนผลของพรนี้ที่แสดงแจ้งชัด คือ ขอให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละผู้จะรับพรที่มีผู้ให้แล้วได้จึงต้องทำใจให้ผ่องใสพิจารณาให้เห็นส่วนเหตุของพรนั้นและปฏิบัติให้ได้ในส่วนเหตุ จึงจะได้รับส่วนผลเป็นการรับพรสมบูรณ์จริง