โดย : admin | เมื่อ : 2017-04-18 14:59 | เข้าชม : 2007
คำนิยม
“ถ้าหากวัตถุส่งพลังงาน E ออกไปในรูปของการแผ่รังสี มวลของมันจะลดลงเท่ากับ E/c2 ในที่นี้จะเห็นได้ชัดว่าพลังงานที่ออกจากวัตถุนี้ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นพลังงานของรังสีเสมอไป ดังนั้น เราจึงได้ข้อสรุปในกรณีทั่วไปว่า มวลของวัตถุเป็นปริมาณที่ใช้วัดค่าพลังงานของวัตถุนั้น ถ้าหากพลังงานเปลี่ยนไปเท่ากับ E มวลก็จะเปลี่ยนไปในลักษณะเดียวกันเท่ากับ E/9x1020 ถ้าพลังงานมีหน่วยเป็นเอิร์กและมวลมีหน่วยเป็นกรัม” ....นี่คือคำกล่าวของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และเป็นบทสรุปของสมการระบือโลก E = mc2 พร้อมกันนั้นก็มีคำตอบอีกมากมาย จากทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ และ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ของเขา เช่น
l = l0 √1- (v2/ c2) ซึ่งสรุปอย่างง่ายคือ ความยาว หรือ มิติทางด้านรูปร่างของวัตถุสามารถหดสั้นลงได้ เมื่อมีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง
t = t0 / √1- (v2/ c2) เมื่อวัตถุมีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง เวลาสามารถเดินช้าลงได้
p = mv / √1- (v2/ c2) สูตรโมเมนตัมสัมพัทธ์ Gαβ + Λgαβ = kTαβ โดยที่ Gαβ ≡ Rαβ -1/2 gαβ R สมการสนามของไอน์สไตน์ บ่งบอกถึงเรื่อง กาลอวกาศโค้ง ( ในบทที่2 ของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้กล่าวว่า E=M หรือ รูป=นาม ซึ่งถ้าหากลองแทนค่า v = c ในสูตรเกี่ยวกับ ความยาว(length) และเวลา(time) ก็จะได้ length=0 คือไม่มีรูปร่าง และ time=infinity คือไม่มีเวลา(เข็มนาฬิกาหยุดเดิน) ซึ่งผู้อ่านอาจนำไปเทียบเคียงกับ นามธรรม ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวถึง ว่ามีลักษณะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ) (ขอขอบคุณหนังสือ “แฟนพันธุ์แท้ ไอน์สไตน์” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลของข้าพเจ้า) อย่างไรก็ตามจากสูตรคณิตศาสตร์ที่เป็นคำตอบของไอน์สไตน์เหล่านี้ ซึ่งมีผลในการพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ของโลกมาจนถึงปัจจุบัน จนโลกยกย่องไอน์สไตน์ว่าเป็น “อัจฉริยะบุคคล” แต่กระนั้น ไอน์สไตน์ก็ยังไม่สามารถประกาศได้ว่า เขาคือ “ผู้รู้จริง” และ “รู้แจ้งโลก” และยังคงมีคำถามอีกมากมายที่ตอบไม่ได้เช่นเดียวกับ ผมและ คุณ ผู้ที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ ไอน์สไตน์ และ ทฤษฎีสัมพัทธภาพของเขา เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตคุณ ถ้าคุณไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ นักเทคนิค นักวิชาการ หรือ ครูสอนฟิสิกส์* ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้จึงมีอยู่ * เพราะผู้เขียนได้บอกเราว่า ไอน์สไตน์ ผู้ที่โลกยกย่องว่าเป็น ยอดอัจฉริยะ ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจบางอย่างไว้ซึ่งยังหาคำตอบไม่ได้ แต่ผู้เขียนบอกว่าคำตอบนั้นแท้ที่จริง มีผู้ตอบไว้แล้วนั่นคือ “พระพุทธเจ้า” และที่สำคัญที่สุด คำตอบนี้เป็นคำตอบของมนุษยชาติ เป็นคำตอบของคนทุกคน ไม่เว้นชนชาติหรือภาษาใดๆในโลก พุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ตถาคต” และ “ธรรมและวินัยที่เราบัญญัติไว้ดีแล้ว จักเป็น ศาสดาแทนเราในกาลเบื้องหน้า” นี่คือสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับ ศาสนาพุทธ ในยุคหลัง พุทธกาล พระพุทธเจ้า คือ “เจ้าแห่งพุทธะ” ท่านคือ พุทธะ ผู้รู้จริง คนแรกของโลกในยุคนี้ การที่จะประกาศศาสนา หรือ เผยแพร่ ความรู้ อันเป็นสุดยอดของมนุษย์นี้ ท่านทรงวางพระทัย สาวกผู้เป็นพุทธะแล้ว ในการเผยแพร่คำสอน และนี่คือ แบบแผนอันยอดเยี่ยม ที่พุทธสาวก ในรุ่นต่อมาใช้เป็นแบบอย่าง เช่น ยุค พระนาคเสน-พระเจ้ามิลินทร์ เป็นต้น อาจารย์ ศุภวรรณ พิพัฒพรรณวงศ์ กรีน ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานานมากกว่า30ปี เมื่อมี ปริยัติถูกต้อง มีปฏิบัติที่ถูกต้อง ย่อมมี ปฏิเวธที่ถูกต้อง มีมรรคย่อมมีผล บัดนี้เธอได้ยืนยันว่า “เธอรู้แล้ว” พร้อมทั้งได้แจกแจงความรู้นั้นออกมาเป็นหนังสือหลายเล่ม จนกระทั่งถึงเล่มนี้ พร้อมกันนั้นก็ได้จัดอบรมธรรมะขึ้น ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือไปจากงานสอนไท้เก๊ก ที่มหาวิทยาลัย เบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ
จากประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้า ในระยะเริ่มแรกที่สนใจศึกษาธรรมะ รวมทั้งเคยฝึกปฏิบัติมาบ้างในแนวสมถะกรรมฐาน แม้ความทุกข์จะสามารถลดลงได้บ้าง แต่ชีวิตของฆราวาส ในยุคปัจจุบัน นั้นเร่งรีบ และ บีบคั้น เป็นอย่างยิ่ง หนังสือธรรมะมากมาย รวมไปถึงความรู้ในหัว และ ประสบการณ์ผิวเผินจากการปฏิบัติ ทำได้เพียง ระงับทุกข์แบบชั่วคราวเท่านั้น มิใช่การดับทุกข์ให้น้อยลงและหมดไป สมดังเจตนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อสัตว์โลก เมื่อประสบการณ์ในการศึกษาและปฏิบัติของข้าพเจ้ามีมากขึ้น รวมไปถึงได้พบหนังสือธรรมะอันประเสริฐยิ่งได้แก่ “พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ” ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตโต) จนข้าพเจ้าได้ประสบกับคำว่า “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” ด้วยตนเอง แต่กระนั้นเมื่อยิ่งอ่านมาก ยิ่งรู้ปริยัติมาก กลับรู้สึกได้ถึงความไม่ก้าวหน้า ในการดับทุกข์ เพราะเพียงตัวหนังสือในทางปริยัติ ไม่เพียงพอต่อการเข้าถึง “ความดับสนิทแห่งทุกข์” แต่หลังจากได้อ่านหนังสือและเข้ารับการอบรมกับอาจารย์ศุภวรรณ รวมทั้งได้นำทักษะเรื่องการพาตัวใจกลับบ้านมาปฏิบัติ ซึ่งเป็นวลีที่อาจารย์ศุภวรรณตั้งขึ้นใหม่ แทนคำว่า สติปัฏฐานสี่ เมื่อข้าพเจ้าได้ทดลองนำมาปฏิบัติเป็นระยะเวลาพอสมควร ข้าพเจ้าต้องขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า คำสอนของอาจารย์สามารถช่วยให้ “ดับทุกข์อย่างได้ผล” และ “ง่ายสาหรับฆราวาสยุคนี้” ด้วยการใช้สำนวนภาษาร่วมสมัยของอาจารย์ศุภวรรณ รวมไปถึงการเล่าประสบการณ์ชีวิต ในฐานะฆราวาสธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ต้องพบเจอ มรสุมชีวิต ลูกแล้วลูกเล่า ตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ 2516 เป็นต้นมา ในพระไตรปิฎกรวมไปถึงคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา แทบจะกล่าวได้ว่าไม่มีบันทึกของวิถีชีวิตของฆราวาสผู้บรรลุธรรมชั้นสูงในระดับ “อาสวักขยญาณ” ว่าหากไม่ได้บวช และไม่ได้ครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตแล้ว ชีวิตประจำวันและการหาเลี้ยงชีพของบุคคลเหล่านั้น จะมีลักษณะอย่างไร นี่เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนโดยมากในยุคกึ่งพุทธกาลเช่นนี้มักคิดเหมาเอาเองว่า ฆราวาสผู้บรรลุธรรมนั้นไม่มี หรือ ถ้าหากใครบรรลุธรรมชั้นสูง (ซึ่งมักคิดว่าต้องเป็นพระ) แล้ว ท่านต้องอยู่นิ่งๆ ต้องอยู่เงียบๆ ต้องไม่ยุ่งกับผู้คน ต้องไม่ยุ่งกับสังคมเมือง ซึ่งภาพความคิดความเห็นเหล่านี้ ไม่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎกแม้แต่น้อยว่าจะต้องเป็นเช่นนี้เสมอไป
ผู้บรรลุโลกียะอภิญญา๕ กับ ผู้บรรลุอภิญญาครบทั้ง๖อย่าง ล้วนมีกำลังจิตในระดับฌานสมาบัติอันแก่กล้า ซึ่งส่งผลให้ ศีลาจารวัตรนั้นงดงามยิ่ง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้ทรงกำลังจิตชั้นสูง
เหล่านี้มักอยู่ในป่า ในเขา หรือ ครองเพศบรรพชิต เสียเป็นส่วนมาก แต่สำหรับผู้บรรลุอภิญญาที่๖ หรือ อาสวักขยญาณ เพียงอย่างเดียว ชีวิตจะเป็นอย่างไรเล่า? และถ้ายิ่งต้องครองเพศฆราวาส อาศัยอยู่ในเมือง และอยู่ในยุคกึ่งพุทธกาล ที่กระแสโลกเชี่ยวกรากและวุ่นวาย อย่างหนักหน่วง นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง การเป็นฆราวาสที่ยังต้องทำงานและหาเลี้ยงครอบครัว ของอาจารย์ศุภวรรณ อาจจะเป็นทั้งจุดแข็งของเธอพร้อมๆ กับเป็นจุดอ่อนด้วย เนื่องจากคนในเมืองไทยส่วนใหญ่มักมีความคิดที่จะศึกษาและรับฟังธรรมะจาก พระสงฆ์ มากกว่า ฆราวาสด้วยกัน ฉะนั้น ถ้าเกิดมีฆราวาสเช่นอาจารย์ศุภวรรณ ที่กล้าพอจะบอกว่า “ฉันทำได้แล้วนะ ควรต้องทำอย่างนี้ ๆ นะ ถ้าหากต้องการไปนิพพาน” ผู้อ่านหนังสือของอาจารย์แทนที่จะวางใจเป็นกลาง ลองรับฟัง รวมทั้งนำไปปฏิบัติดูเสียก่อน กลับกลายเป็นว่าอาจารย์อาจจะถูกตำหนิ หาว่าเธออวดอุตริหรือไม่ก็หลงตัวเอง และแสดงความไม่เชื่อถือ ไม่ศรัทธา เพราะความเป็นฆราวาสของเธอ แต่ใครกันที่ได้ประโยชน์ หรือ เสียประโยชน์ , ใครกันที่มีปัญหา อาจารย์ศุภวรรณจะกล่าวสอนอยู่เสมอว่า “ถ้าใครได้เห็นสัจธรรมตัวเดียวกันแล้วละก็ จะไม่มีปัญหาแน่นอน แต่ถ้าใครยังมีปัญหา ก็เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่เป็นปัญหาของดิฉัน เพราะดิฉันหมดปัญหาแล้ว” สำนวนที่เรียบง่ายและซื่อตรงเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอีกมุมหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆคนที่ได้อ่านหนังสือหรือรับฟังคำสอนของอาจารย์ศุภวรรณ สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็น ไอน์สไตน์ หรือ นักวิทยาศาสตร์ของโลกคนใดในอนาคต ที่จะตั้งคำถามใดๆก็ตาม ในฐานะที่เขาเป็น มนุษย์คนหนึ่ง “พระพุทธเจ้าก็จะมีคาตอบให้เขาเสมอ” เช่นในครั้งพุทธกาลนั้น มีภิกษุผู้หนึ่งซึ่งถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับ โลก และสิ่งเล้นรับของธรรมชาติและจักรวาล พระพุทธองค์จึงทรงตอบโดยการเปรียบเทียบว่า “หากมีชายผู้หนึ่ง ถูกลูกธนูอาบยาพิษ เสียบอยู่กลางอก ถ้าหากชายผู้นั้นมัวแต่ถามว่าใครกันเป็นผู้ยิง ลูกธนูอาบยาพิษอะไร ทำจากไม้อะไร ถ้าหมอผู้จะมาช่วยรักษาไม่ยอมบอกแก่เขาก่อน เขาจะไม่ยอมให้รักษา เมื่อเป็นเช่นนี้ชายผู้นั้นก็จะตายไปเปล่าโดยไม่รู้คำตอบอะไรเลย แต่ถ้าชายผู้นั้นยอมให้หมอรักษาโดยถอนลูกธนูอาบยาพิษนี้ออก รวมไปถึงใส่ยาและรักษาแผลให้หายดีแล้ว การจะหาคำตอบต่างๆที่อยากรู้จึงมีความเป็นไปได้”
ผมขออนุโมทนา ในความเมตตาของอาจารย์ รวมไปถึงกุศลกรรมที่เกิดขึ้นจากหนังสือเล่มนี้ ของอาจารย์ ศุภวรรณ ภูมิรัตน์ กุลชัยธนโรจน์ กรุงเทพฯ พฤศจิกายน พ.ศ.2548
คำนำ
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของไอน์สไตน์กับภูมิปัญญาทางธรรมอันเป็นผลจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ผู้เขียนมีเหตุผลที่จะเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นคำถามเรื่องจุดคงที่ของจักรวาล (The absolute ruling point in nature) ที่อัลเบิรต์ ไอน์สไตน์ได้ถามเป็นท่านแรกและต้องการค้นให้พบอันเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่บทสรุปของทฤษฎีสัมพัทธภาพ (The Theory of Relativity) หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่ง (The Theory of Everything) ที่ไอน์สไตน์ได้ทุ่มเทชีวิตในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายเพื่อหาคำตอบ, คำถามที่ครอบจักรวาลของไอน์สไตน์เหล่านี้ล้วนชี้ไปสู่ความหมายเดียวกันคือ ไอน์สไตน์ต้องการค้นหาสภาวะสัจธรรมอันสูงสุดที่มีอยู่ในธรรมชาตินั่นเอง ซึ่งคำตอบที่เป็นอมตะนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบแล้วเมื่อ ๒๕๙๔ ปีก่อน ซึ่งท่านใช้คำว่า พระนิพพาน หรือ การหมดทุกข์อย่างสิ้นเชิง
จุดเด่นและจุดสำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ตัวผู้เขียนที่กล้ายืนยันว่า “สัจธรรมอันสูงสุดในธรรมชาติมีอยู่” รวมทั้งกล้าประกาศให้ผู้อ่านรู้ว่า เธอรู้แน่ชัดแล้วว่าสัจธรรมอันสูงสุดหรือสภาวะพระนิพพานคืออะไร เป็นอย่างไร จึงทำให้เธอสามารถตั้งศัพท์ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเพื่อคนยุคใหม่สามารถเข้าถึงสัจธรรมได้ง่ายขึ้น อันคือ ผัสสะบริสุทธิ์ และ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ การประกาศตนเป็นผู้รู้สภาวะสัจธรรมของผู้เขียนนี้เอง ตัวต่อตัวสุดท้ายที่ยังขาดอยู่หรือเป็น missing link ก็สามารถถูกวางลง ก่อให้เกิดภาพชัดเจนของชีวิตที่เชื่อมโยงกับจักรวาลทั้งหมดได้ และก่อให้เกิดการประสานเชื่อมต่อระหว่างภูมิปัญญาทางโลก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาทางศาสนาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของชีวิต การเกิดแก่เจ็บตาย (บทที่ ๑) เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้จึงตั้งอยู่บนรากฐานที่ผู้เขียนอ้างว่าเธอรู้สัจธรรมอันสูงสุด ซึ่งเธอได้อธิบายสภาวะสัจธรรมในฐานะที่เป็น “ที่นี่ เดี๋ยวนี้” (บทที่ ๖) โดยใช้ข้อเปรียบเทียบของรถไฟสองขบวนที่วิ่งพร้อมกัน เนื้อหาในบทที่ ๒, ๓, ๔ ของหนังสือเล่มนี้คือ การวิเคราะห์หัวข้อและคำถามที่มักถามกันบ่อยอันเกี่ยวข้องกับเรื่องชีวิต และ จักรวาล เช่น ตัวจริงของเราคืออะไร อยู่ที่ไหน จิตใจที่เป็นปกติคืออะไร และ พรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอยู่ที่ไหน ซึ่งผู้เขียนได้พยายามประสานและขมวดหัวข้อที่ดูเหมือนแตกต่างกันมากเหล่านี้เข้าสู่เรื่องสัจธรรมอันสูงสุด หรือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับจุดคงที่ของจักรวาล อันเป็นเนื้อหาส่วนที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถมองพระพุทธศาสนาว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเองมากกว่าเป็นเรื่องไกลสุดกู่ และมองใหม่ว่า พระนิพพานไม่ใช่เป็นทางเลือก แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องไปให้ถึง เพราะ การไม่รู้จักพระนิพพานก็คือการไม่รู้จักตัวเอง คือการไม่รู้จักความปกติที่แท้จริงของจิตใจตัวเอง และคือการไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นศูนย์กลางของจักรวาลของตนเอง
จุดเด่นอีกข้อหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนได้พยายามช่วยเหลือปัญญาชนที่บูชาการใช้ความคิดให้รู้จักจุดยืนของตนเองที่เนื่องกับจักรวาล โดยแยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างระหว่างวิธีการหาความรู้ทางโลกที่ยังอิงกับความมืดบอดของอวิชชากับความรู้ทางธรรมที่จะช่วยให้รู้จักตนเองอย่างแท้จริงอันเป็นเนื้อหาของบทที่ ๔ และ ๕ ความสมบูรณ์ของหนังสือเล่มนี้คงจะอยู่ที่การบอกทางออกของชีวิต อันคือวิธีการที่จะช่วยให้ผู้อ่านสามารถค้นพบจุดนิ่งของจักรวาลหรือสัจธรรมอันสูงสุดด้วยตนเอง ซึ่งเป็นเนื้อหาของบทที่ ๗ ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า
สติปัฏฐานสี่หรือวิปัสสนาเท่านั้นที่จะเป็นทางออกให้ชาวโลกได้พบกับความสุขและสันติภาพที่แท้จริง และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านที่อยากเริ่มการเดินทางเพื่อแสวงหาตัวเองทันทีที่อ่านทั้ง ๗ บทจบ ผู้เขียนจึงได้นำเรื่อง “การพาตัวใจกลับบ้าน” อันคือวิธีการฝึกสติปัฏฐานสี่ที่ได้ประยุกต์ให้เหมาะสมกับคนยุคใหม่มาไว้ที่ภาคผนวกซึ่งทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์อย่างเต็มเปี่ยม
หากคุณเอากรุงเทพเป็นหลัก นั่นคือ สมมุติให้กรุงเทพเป็นพรมแดนสุดท้าย เชียงใหม่ก็จะอยู่ไกลจากกรุงเทพ ๖๐๐ กิโลเมตร หากคุณเอาสงขลาเป็นหลัก เชียงใหม่ก็จะอยู่ห่างจากสงขลา ๑๖๐๐ กิโลเมตร หากสมมุติให้กรุงลอนดอนเป็นหลักหรือเป็นพรมแดนสุดท้าย เชียงใหม่ก็จะอยู่ห่างจากลอนดอนถึง ๖๐๐๐ กิโลเมตร เป็นต้น ฉะนั้น คุณจะเห็นว่า ๖๐๐, ๑๖๐๐, ๖๐๐๐ กิโลเมตรคือค่าสัมพัทธ์อันเป็นผลของการสมมุติจุดนิ่งหรือจุดพรมแดนสุดท้ายขึ้นมาเพื่อวัดความใกล้ไกลของสถานที่ ฉะนั้น การตัดสินว่าใครอยู่ใกล้หรือไกลเชียงใหม่จึงขึ้นอยู่ที่ว่า คุณอยู่จุดไหน คนอยู่ลอนดอนก็ต้องเห็นว่าเชียงใหม่ไกลมาก ใครอยู่สงขลาก็ย่อมเห็นเชียงใหม่ไกลกว่าคนอยู่กรุงเทพ ใครอยู่ลำปางก็ย่อมเห็นว่าเชียงใหม่อยู่ใกล้นิดเดียว นี่คือ การพูดอย่างสัมพัทธ์ relatively speaking อันเป็นผลของทฤษฎีสัมพัทธภาพ
เมื่อรู้จุดคงที่
แต่ถ้าคุณรู้จุดคงที่ จุดนิ่ง หรือจุดปกติของจักรวาล หรือ รู้แน่ชัดว่าพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลอยู่ตรงไหนแล้วละก็ ทีนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ซอกซอยไหนของจักรวาลก็ตาม คุณก็สามารถวัดจากจุดที่คุณอยู่และไปจรดที่เสาหลักสุดท้ายหรือพรมแดนสุดท้าย หรือ จุดปกติของจักรวาล ทุกคนจะสามารถทำได้เหมือนกันหมดเพราะรู้เสาหลักสุดท้ายของจักรวาลแล้ว ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะอยู่ ณ จุดไหนของจักรวาล ก็สามารถวัดจากจุดที่ตนเองอยู่และไปจรดที่เสาหลักอันเป็นพรมแดนสุดท้ายของจักรวาล การวัดนั้นก็จะเป็นมาตรฐานสากลของจักรวาล ได้ค่าคงที่เหมือนกันหมด ฉะนั้น คนอยู่กรุงเทพ เชียงใหม่ สงขลา ลอนดอน หากจะวัดความใกล้ไกล ก็ต้องวัดไปที่เสาหลักสุดท้ายของจักรวาลก่อน ซึ่งอาจจะได้ค่าตามลำดับเช่นนี้คือ ๑.๕ ล้านปีแสง ๑.๕๒ ล้านปีแสง ๑.๕๔ ล้านปีแสง ๒ ล้านปีแสง เป็นต้น นี่เป็นการสมมุติว่าหากเรารู้จุดคงที่หรือจุดปกติของจักรวาล ทุกคนจะรู้แน่ชัดว่า ใครอยู่ใกล้หรือไกลจากจุดคงที่หรือพรมแดนสุดท้ายของจักรวาลมากน้อยแค่ไหน นี่คือ การพูดอย่างแน่นอน absolutely speaking เพราะรู้จุดเที่ยงแท้แน่นอนของจักรวาล นี่คือเหตุผลที่ไอน์สไตน์อยากหาจุดคงที่ของจักรวาล เพื่อจะได้ใช้
เป็นมาตรฐานหลักของจักรวาล แต่อย่างที่พูดแล้วว่า ความรู้ของไอน์สไตน์เน้นไปที่เรื่องฟิสิกส์เพียงถ่ายเดียวเท่านั้น
แต่สัมพัทธภาพครอบคลุมทุกเรื่อง
การวัดน้ำหนักของวัตถุสิ่งของก็เช่นกัน น้ำหนักตัวของคนบนโลกมีค่าสัมพัทธ์กับแรงโน้มถ่วงของโลก พูดให้งงเล่นก็คือ ทุกครั้งที่คุณชั่งน้ำหนักตัวเอง ที่จริงแล้ว คุณกำลังชั่งแรงถ่วงของโลกที่กดลงบนตัวคุณ หากไปชั่งน้ำหนักบนโลกพระจันทร์ซึ่งมีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลก น้ำหนักที่กดลงตัวคุณบนโลกพระจันทร์จะน้อยกว่าแรงที่กดบนโลก จึงทำให้น้ำหนักตัวของคุณน้อยกว่าน้ำหนักตัวที่ชั่งบนโลก การจะตัดสินว่าใครอ้วน ใครผอม สวย ขี้เหร่ เหล่านี้ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าเราเอาใครและอะไรเป็นมาตรฐานของการวัด เราต้องสมมุติค่าปกติขึ้นมาก่อน เช่น คนแขกชอบให้ผู้หญิงของเขามีเนื้อมีหนังมีพุงย้อยอันเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย ซึ่งเขาเรียกหุ่นเช่นนี้ว่าสวย แต่ในสายตาของหญิงชาวตะวันตกที่ชอบหุ่นเพรียว ๆ นั้นจะเห็นหญิงแขกอ้วน ในขณะที่หญิงแขกจะเห็นหญิงชาวตะวันตกผอมเกินไป ความรวย ความจน ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเอาใครและอะไรเป็นมาตรฐานของการวัด กรรมกรที่หาเช้ากินค่ำก็จะเห็นทุกคนรวยกว่าตนหมด นอกจากขอทานเท่านั้น (ขอทานบางคนอาจจะรวยกว่ากรรมกรก็เป็นได้) คนมีเงินเก็บจำนวนแสนก็จะเห็นคนมีเงินล้านรวยกว่าตน ส่วนคนรวยที่มีทรัพย์สินสิบล้าน ก็จะเห็นคนที่มีน้อยกว่านั้นจนกว่าตนเองหมด แต่เมื่อนำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนมีทรัพย์สินร้อยล้าน พันล้าน ก็ยังคิดว่าตัวเองจนอยู่ ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่มีทรัพย์สินหลายหมื่นล้าน ก็คงคิดว่าตนเองยังจนมากอยู่ เป็นต้น เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งสมบูรณ์ คงที่ และปกติ อันจะใช้เป็นมาตรฐานของการวัดสิ่งต่าง ๆ ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงต้องวัดกันอย่างเปรียบเทียบ หรือ สัมพัทธ์กันเช่นนี้ จึงก่อให้เกิดคำวลีภาษาอังกฤษว่า relatively speaking หรือ พูดอย่างสัมพัทธ์ ซึ่งเป็นวลีที่ใช้กันบ่อยมากใน
ชีวิตประจำวัน เพราะต้องพูดให้รู้เรื่องก่อนว่าเอาอะไรเป็นหลัก มิเช่นนั้น เถียงกันตาย แต่ถ้าหากเรารู้จุดคงที่ของจักรวาล วิถีชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกลักษณะหนึ่ง
ไอน์สไตน์กับทฤษฎีเอกภาพ
หลังจากการค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพแล้ว ไอน์สไตน์ก็ยังได้ค้นพบเรื่องกลศาสตร์ควอนตัม Quantum Mechanic ซึ่งความคิดหลักของทฤษฎีนี้คือ ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้เกิดขึ้นและมีการทำงานเหมือนการโยนลูกเต๋า ผลของมันย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอาจจะเป็นไปได้ probability เท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอน์สไตน์ยอมรับไม่ได้ เพราะค่าของความอาจจะเป็นไปได้เปรียบเหมือนกับการยืนอยู่บนท่าน้ำที่โคลงเคลง เอนเอียง หากใช้ภาษาของชาวพุทธแล้ว การค้นพบกลศาสตร์ควอนตัมก็คือ การค้นพบเรื่องอนิจจังนั่นเอง สิ่งที่ไอน์สไตน์ต้องการนั้น เปรียบเทียบได้กับความหนักแน่นของพื้นดิน หรือ สิ่งหนึ่งที่ให้ค่าอันคงที่ ปกติ ถาวร ซึ่งเขาคิดว่าคณิตศาสตร์เท่านั้นที่สามารถหยิบยื่นสิ่งที่เที่ยงแท้ แน่นอน ให้กับเขาได้ ฉะนั้น แม้ไอน์สไตน์เป็นผู้ค้นพบเรื่องกลศาสตร์ควอนตัมอันเป็นความรู้ที่ได้รับการต่อยอดพัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ตาม ไอน์สไตน์กลับไม่ได้ให้เยื่อใย ไม่สนใจ แถมดูหมิ่นความรู้ที่เขาได้ค้นพบเอง หรือ ถ้าพูดใหม่ด้วยภาษาของชาวพุทธว่า ไอน์สไตน์ยอมรับความเป็นอนิจจังของทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้ จึงขวนขวายหาสิ่งที่เป็นนิจจัง หรือ ความเที่ยงแท้ ถาวร สิ่งที่รั้งไอน์สไตน์ไว้คือ ความเป็นนักการศาสนาของเขา ความเชื่อในพระเจ้า และนิสัยส่วนตัวที่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างแน่ชัด ถึงแก่น และสามารถแปรความเข้าใจนั้น ๆ ออกมาเป็นสูตรสำเร็จทางคณิตศาสตร์ที่แน่นอน ซึ่งคณิตศาสตร์เป็นวิธีการเดียวที่ไอน์สไตน์สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ หลังจากที่ประธานาธิบดีคนแรกของอิสราเอลเสียชีวิต ไอน์สไตน์ได้ถูกเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีของชาวยิวคนต่อไป เพราะความเป็นนักฟิสิกส์ที่ได้รับ
รางวัลโนเบลและเป็นผู้รักสันติภาพมาก จึงได้มีส่วนช่วยเหลือชาวยิวจนก่อให้เกิดประเทศอิสราเอลขึ้นมาในปี 1948 แต่ไอน์สไตน์ปฏิเสธตำแหน่งผู้นำประเทศโดยให้เหตุผลว่า
“การเมืองอยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่สมการทางคณิตศาสตร์สามารถอยู่ได้อย่างชั่วนิรันดร” อย่างกลไรก็ตาม ความรักความคลั่งไคล้ และบูชาในพระเจ้ากับคณิตศาสตร์ไปพร้อม ๆ กันนี่เอง ได้เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในหัวสมองหรือจิตใจของอัจฉริยะบุคคลผู้นี้อีก นับตั้งแต่ต้นปี 1920 เป็นต้นไป ไอน์สไตน์ได้เข้าสู่ยุคของการคิดค้นหาทฤษฎีเอกภาพ The Unified Theory หรือ ทฤษฎีสรรพสิ่ง The Theory of Everything
พระเจ้าไม่เล่นลูกเต๋า
ไอน์สไตน์เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ความเถรตรงของคณิตศาสตร์เท่านั้นที่สามารถอธิบายและให้คำตอบแก่ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลได้ จะสามารถรวมความรู้ทั้งหมดของจักรวาลเข้าเป็นหนึ่งเดียว รวมไปถึงการอธิบายว่าพระเจ้าสร้างจักรวาลนี้ได้อย่างไร ดังที่ไอน์สไตน์พูดว่า
“ข้าพเจ้าต้องการรู้ว่าพระเจ้าสร้างโลกนี้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่ได้สนใจปรากฏการณ์นั้นนี้ว่ามันเป็นของธาตุนั้นหรือธาตุนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงรายละเอียดเท่านั้น ข้าพเจ้าต้องการรู้ความคิดของพระเจ้าต่างหาก”
ทฤษฎีเอกภาพนี้จึงเปรียบเหมือนการหาสมการทางคณิตศาสตร์ที่สามารถอ่านจิตใจของพระเจ้าและงานศิลปะการสร้างโลกและมนุษย์ของพระเจ้านั่นเอง ซึ่งเป็นความคิดที่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมาก ในเดือนเมษายน 1955 ไอน์สไตน์ล้มป่วยและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลปรินซ์ตัน รัฐนิวเจอซี่ อันเป็นเมืองที่เขาอยู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ไอน์สไตน์ก็ยังไม่ลดละที่จะคิดค้นสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เขาหาอยู่ในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา เขามักมีกระดาษ ดินสอ อยู่กับตัวและขีดเขียนตัวเลข เครื่องหมาย และสมการทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ซึ่งพยาบาลคนหนึ่งที่ดูแลเขาอยู่ได้หามาให้ จึงมีโอกาสได้เห็นพูดคุยสนทนากับไอน์สไตน์ จึงรู้ว่า
ไอน์สไตน์ยังคงพยายามอ่านหัวสมองของพระเจ้าอยู่ พยาบาลรู้สึกเห็นใจ อยากให้ไอน์สไตน์พักผ่อนอย่างเต็มที่ วันหนึ่งพยาบาลจึงพูดกับไอน์สไตน์อย่างอ่อนโยนและเป็นห่วงเป็นใยว่า
บางที พระเจ้าท่านอาจจะไม่อยากให้เราอ่านจิตใจของท่านก็ได้นะ
Maybe God doesn’t want us to know his mind.
ทั้ง ๆ ที่ยังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ ไอน์สไตน์พูดสวนกลับทันทีอย่างดื้อรั้นพร้อมกับสั่นศีรษะไปมาว่า
พระเจ้าไม่เล่นลูกเต๋าหรอก คุณพยาบาล!
God doesn’t play dice, nurse!
ซึ่งเป็นการพูดพาดพิงอย่างดูหมิ่นถึงเรื่องกลศาสตร์ควอนตัมที่มีผล “อาจจะเป็นไปได้” หรือ อนิจจังนั่นเอง
ประวัติศาสตร์จึงได้จารึกเหตุการณ์ในช่วง ๓๐ ปีสุดท้ายของไอน์สไตน์ในฐานะบุคคลที่ล้มเหลว จมปรักอยู่ในโลกของวิทยาศาสตร์ที่ล้าหลัง โดดเดี่ยวเดียวดาย เพราะภายในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ชาวฟิสิกส์ด้วยกันแล้ว ต่างรู้ว่าทฤษฎีเอกภาพนี้เป็นเรื่องเพ้อฝันของไอน์สไตน์เท่านั้นเอง ไม่มีทางจะเป็นความจริงได้เลย การแสวงหาของไอน์สไตน์ไร้ผลอย่างสิ้นเชิง อัจฉริยะบุคคลผู้นี้จึงได้จากโลกนี้ไปในวันที่ ๑๘ เมษายน ๑๙๕๕ ในขณะที่ในมือยังกำแผ่นกระดาษที่ขีดเขียนสมการทางคณิตศาสตร์อยู่ โดยที่ยังไม่ได้พบคำตอบที่เขาต้องการหาแต่อย่างใด
ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากไอน์สไตน์สามารถอ่านความคิดของพระเจ้าได้แล้ว เขาอาจจะสามารถตอบคำถามมากมายที่ยาวเป็นหางว่าวที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม” เช่น ทำไมพระเจ้าจึงปล่อยให้ฮิตเลอร์และทหารนาซีฆ่าชาวยิวอย่างล้างเผ่าพันธุ์เช่นนั้น ทำไมพระเจ้าจึงไม่ยุติสงครามที่สร้างความทุกข์อย่างมหันต์ให้กับมนุษย์ที่พระเจ้าสร้างและรักมากดังคำโฆษณา ทำไมพระเจ้าจึงไม่ช่วยผู้กรีดร้องขอความช่วยเหลือจากท่านเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตเช่น เด็กหญิงที่กำลังถูกข่มขืน ถูกฆ่า หรือ กำลังหนีภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม และทำไมพระเจ้าจึงสร้างโลกและสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและอยุติธรรมเช่นนี้ ฯลฯ
ไอน์สไตน์ยอมรับพระพุทธศาสนา
ถึงแม้ไอน์สไตน์ได้จากโลกนี้ไปโดยไม่พบคำตอบที่เขาต้องการก็ตาม เขาได้ทิ้งคำพูดที่สำคัญมากให้กับมนุษยชาติซึ่งดิฉันรู้สึกซาบซึ้งมาก ในบั้นปลายชีวิตของเขา ไอน์สไตน์เริ่มสงสัยแล้วว่า ศาสนาพุทธอาจจะเป็นศาสนาที่ให้คำตอบต่อคำถามที่เขาอยากค้นพบก็เป็นได้ ในปี ๑๙๕๔ หนึ่งปีก่อนเสียชีวิตนั้น มหาวิทยาลัยปรินซ์ตันได้ตีพิมพ์งานเขียนชิ้นหนึ่งของไอน์สไตน์ชื่อเรื่องว่า “The Human Side” ซึ่งนักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลผู้นี้ได้พูดทิ้งไว้นิดหน่อยว่า