พระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ในงานเรื่องประติมากรรมไทย
พระพุทธรูปอู่ทอง :ท่านผู้อ่านที่เคารพ ฉบับนี้เราจะมาพูดคุยกันเกี่ยวกับ ศิลปะสกุลช่างที่รังสรรค์งานประติมากรรมสัมฤทธิ์ออกมาเป็น องค์พระพุทธรูปที่เรียกขานกันว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง ซึ่งแตกต่างจากศิลปะ "อู่ทองสุวรรณภูมิ" ศิลปะพระพุทธรูปอู่ทองนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยา มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 20 หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ อดีตหัวหน้ากองพิพิธภัณฑ์และโบราณวัตถุกระทรวงธรรมการและหัวหน้ากองโบราณคดี ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ศิลปะแบบอู่ทองนั้นคลี่คลายมาจากการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบทวารวดีกับศิลปะ ขอม กล่าวคือ การที่ขอมเข้ามามีอำนาจในแหลมอินโดจีนมิได้ทำให้งานทางศิลปกรรมของ "รัฐ" ดั้งเดิม อันได้แก่ ทวารวดีหยุดชะงักลง หากแต่ยังคงสืบทอดต่อเนื่องโดยคติความเชื่อแบบพุทธหินยานผสมกลมกลืนกับลักษณาการอันเข้มขลังของคติขอม
พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงคุณค่าของ พระพุทธรูปศิลปะอู่ทองในงาน "เรื่องประติมากรรมไทย" ว่า พระพุทธรูปสมัยอู่ทอง "ศิลปะอู่ทองมีค่ายิ่งกว่าของอยุธยาและรัตนโกสินทร์ โดยเหตุที่มีแบบวิธีแปลกและมีคุณค่าของศิลปะอู่ทอง เป็นอาการปรากฏดีที่สุดในหมู่สกุลช่างต่างๆ ของพระพุทธปฏิมาศิลปะสุโขทัยและศิลปะอู่ทองนั้นมีลักษณะตรงกันข้าม ศิลปะสุโขทัยมีวงรูปนอกและรายละเอียดประณีตสุขุม ทำให้เห็นอย่างบริบูรณ์ซึ่งพระรูปโฉมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนศิลปะอู่ทองมีลายเส้นคร่ำเคร่งและตึงเครียด และมีลายเส้นขนาดใหญ่ เป็นอาการสำแดงบ่งให้เห็นว่าพระพุทธองค์ยังมีอำนาจแห่งจิตที่จะเอาชนะแก่ โลกีย์ และค้นหาทางหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดให้ถึงซึ่งวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง)"
พระพุทธรูปอู่ทอง
เราอาจแบ่ง พระพุทธรูปอู่ทอง ได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 1 หรืออู่ทองหน้าแก่ พบในเขตเมืองสรรคบุรี จ.ชัยนาท มีพระพักตร์เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง เม็ดพระศกคมชัด ความกว้างของพระนลาฏรับกับแนวพระขนงที่ต่อกันคล้ายปีกกา พระหนุป้านเป็นอย่างที่เราเรียกว่า คางคน
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 2 หรืออู่ทองหน้ากลาง จะมีพัฒนาการคลายความเคร่ง ขรึมที่พระพักตร์ลง มีลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆ ลดอิทธิพลทางศิลปะแบบขอมลง ตัวอย่างได้แก่ พระเจ้าพนัญเชิง หรือพระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง จ.พระนคร ศรีอยุธยา
พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 3 หรืออู่ทองหน้าหนุ่ม มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากขึ้น พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏแคบ พระวรกายเพรียวบางครั้งพบในลักษณะแข้งคมเป็นสัน เรียกว่า แข้งสัน พบมากในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)
พระพุทธรูปอู่ทอง นับเป็นต้นแบบของการสร้าง "พระผงสุพรรณ" หนึ่งในพระยอดนิยมของไทยชุดเบญจภาคี ที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์ อีกทั้งลักษณะการแบ่งจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อก็เหมือนกันคือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม ครับผม
พระพุทธรูปปางต่างๆ:ปางพระพุทธรูป ของประเทศไทย ที่มาหนังสือพิมพ์ข่าวสด